ยาเสพติด หรือ ยาเสพย์ติด

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๑-๔ เก็บคำ เสพ เสพย์ ไว้คู่กันและระบุชนิดคำว่าเป็นคำกริยา ดังนี้  “เสพ เสพย์ ก. คบ เช่น ซ่องเสพ; กิน บริโภค เช่น เสพสุรา; ใช้ เช่น ยาเสพย์ติด; ร่วมประเวณี เช่น เสพเมถุน. (ป. ส.).” และเก็บคำ “ยาเสพย์ติด” เป็นลูกคำของคำตั้ง “ยา” โดยมีข้อความท้ายบทนิยามว่า “ใช้ว่า ยาเสพติด ก็มี” ด้วยเหตุผล ๒ ประการ  ประการแรก คำ “เสพย์” ในภาษาเดิมคือบาลีและสันสกฤต ไทยยืมคำนี้มาใช้เป็นคำวิเศษณ์ ซึ่งทำหน้าที่ขยายความคำอื่นที่ไปประกอบ คือ ขยาย “ยา” จึงควรเป็น “ยาเสพย์ติด”  ประการที่ ๒ เนื่องจากมีตัวอย่างจากชื่อพระราชบัญญัติ ๖ ฉบับที่ใช้ทั้ง “เสพย์” และ “เสพ” คือ พระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พุทธศักราช ๒๔๖๕ ซึ่งเป็นฉบับแรก และพระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นฉบับที่ ๔ ส่วนอีก ๔ ฉบับ คือฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๐๒  ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๑๘ และฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๒๒  ใช้ว่า “พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ” โดยหลักที่ยึดถือ คำที่ปรากฏในกฎหมายซึ่งเขียนในรูปของอักขรวิธีอย่างใดก็ควรจะใช้ตามที่กฎหมายใช้ โดยไม่แก้ไข ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อความว่า “ใช้ว่า ยาเสพติด ก็มี” ต่อท้ายบทนิยามของคำ “ยาเสพย์ติด” เพื่อมิให้ขัดกับที่กฎหมายใช้  

          เมื่อจัดพิมพ์พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ และ ๖ ได้ปรับเปลี่ยนการเก็บคำ เสพ และ เสพย์ใหม่ โดยตัดคำ “เสพย์” ที่เคยตั้งคู่กันออก แล้วเก็บคำตั้งว่า “เสพย์ติด” ให้เป็นคำวิเศษณ์ ทั้งเพิ่มลูกคำ “ยาเสพย์ติดให้โทษ” ระบุว่าเป็นคำกฎหมายไว้ด้วย  เมื่อมีการแยกเอา “เสพย์” ออกจาก “เสพ” โดยตั้งคำ “เสพย์ติด” แทน และระบุชนิดคำว่าวิเศษณ์ ทำให้เกิดความสับสน  คณะกรรมการชำระพจนานุกรม จึงได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า ในภาษาไทย คำที่นำมาขยายคำที่ไปประกอบนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคำคุณศัพท์หรือคำวิเศษณ์เสมอไป อาจใช้คำนามหรือกริยามาขยายก็ได้ เช่น ยาเส้น ยาน้ำ ยาทา ยากิน ยาสีฟัน ทั้งคำที่ไทยยืมมาก็มักไม่คำนึงถึงชนิดคำเดิมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยึดรูปคำตามชนิดคำในภาษาเดิม จึงมีมติให้เขียนคำนี้ว่า ยาเสพติด เพียงรูปเดียว โดย เสพ ซึ่งเป็นกริยาก็สามารถจะขยายความคำ “ยา” ได้ และมีความหมายที่สื่อความอย่างตรงไปตรงมา คือ “ยาที่เสพแล้วติด” นั่นเอง

   กระลำภักษ์  แพรกทอง