ยุคสารสนเทศ

          ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกทำให้เราต้องสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้มีพัฒนาการตามทันโลกไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การติดต่อสื่อสาร จากเดิมที่เคยใช้เวลานานกว่าจะส่งจดหมายหรือโทรเลขหากันได้ แต่ปัจจุบันเรามีช่องทางการสื่อสารมากมายที่ช่วยให้ติดต่อถึงกันได้รวดเร็วและง่ายดาย แม้จะอยู่ห่างไกลกันเพียงใดก็ตาม สภาวการณ์เช่นนี้นอกจากจะเรียกได้ว่าเป็น ยุคโลกาภิวัตน์ แล้ว อาจเรียกโลกยุคนี้ว่าเป็น ยุคสารสนเทศ ก็ได้

          คำว่า โลกาภิวัตน์ มาจากภาษาอังกฤษว่า globalization พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า การแพร่กระจายไปทั่วโลก; การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น ส่วนคำว่า สารสนเทศ นั้น มีความหมายตามพจนานุกรมฯ ว่า ข่าวสาร หรือการแสดงหรือชี้แจงข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ

          พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ยุคสารสนเทศ (information age) เริ่มประมาณ ค.ศ. ๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๑๓) เป็นยุคที่ข้อมูลสารสนเทศมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม คุณค่าของการผลิตสินค้าและบริการเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ในช่วงเวลานี้ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเครือข่ายโทรคมนาคม สามารถเชื่อมโยงธุรกิจทุกด้านได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในทางการศึกษา ยุคสารสนเทศ หมายถึง ช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเริ่มมีการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยเฉพาะในเรื่องระบบการบริหารจัดการสารสนเทศ (management information system) เช่น ระบบทะเบียนนักเรียน ระบบเงินเดือน และการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือซีเอไอ (computer-assisted instruction–CAI) ซึ่งสามารถช่วยผู้สอนวิชาต่าง ๆ อาทิ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ระบบการบริหารจัดการสารสนเทศยังรวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านระบบเครือข่ายต่าง ๆ ด้วย.

อารยา ถิรมงคลจิต