“รอย” ในศัพท์บัญญัติ

คำว่า รอย เมื่อเป็นคำนาม มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า ลักษณะที่เป็นเส้น เป็นริ้ว หรือลวดลาย เป็นต้น ที่ปรากฏอยู่บนพื้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เช่น รอยขีด รอยต่อ หรือหมายถึง เค้า, เค้าเงื่อน เช่น แกะรอย ตามรอย  โดยปริยายหมายถึงร่องรอยที่คงอยู่ เช่น รอยรัก รอยแค้น หรือหมายถึง ทาง, แบบอย่าง เช่น มารอยเดียวกัน  นอกจากนี้ยังหมายถึง ลักษณนามเรียกสิ่งที่เป็นรอย เช่น พระบาท ๔ รอย มีรอยต่อ ๓ รอย

ศัพท์บัญญัติด้านวิทยาศาสตร์หลายสาขาวิชาของราชบัณฑิตยสถาน  มีคำว่า “รอย” ประกอบอยู่ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

รอยเลื่อน หรือ รอยเหลื่อม ในศัพท์ธรณีวิทยา มาจากคำภาษาอังกฤษว่า fault หมายถึง รอยแตกหรือแนวรอยแตกของหิน ๒ ฟากซึ่งเคลื่อนที่สัมพันธ์กันและขนานไปกับรอยแตกนั้น

รอยแผลใบ ในศัพท์พฤกษศาสตร์ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า leaf scar หมายถึง ร่องรอยของโคนก้านใบบริเวณที่ติดกับลำต้นหรือกิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากใบหลุดร่วงไป

รอยโรค ในศัพท์วิทยาศาสตร์ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า lesion หมายถึง พยาธิสภาพหรือลักษณะผิดปรกติที่ปรากฏในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ เป็นต้นเหตุของโรค หรืออาการของโรค หรือความผิดปรกติ เช่น เส้นเลือดในสมองแตกทำให้เป็นอัมพาต

รอยเกย ในศัพท์การเชื่อม มาจากคำภาษาอังกฤษว่า overlap หมายถึง ความบกพร่องที่ขอบหรือรากแนวเชื่อม ซึ่งเกิดจากโลหะเชื่อมไหลเลยไปบนผิวหน้าของโลหะชิ้นงานโดยไม่มีการหลอมละลายติดกัน

นอกจากนี้ ศัพท์ด้านศิลปกรรมหรือด้านธรรมศาสตร์และการเมือง ก็มีคำว่า “รอย” ประกอบอยู่ด้วย เช่น รอยกรดกัด (biting) ในศัพท์ศิลปะ หรือ รอยประดิษฐ์ (artificial mark) ในศัพท์นิติศาสตร์.

                                                                                                                                                                     อารี  พลดี