รัชฎาภิเษก-รัชดาภิเษก

           เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้นำคำ รัชดาภิเษก มาวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งโดยมีความเห็นว่าคำนี้จะต้องเขียนว่า รัชฏาภิเษก (ผู้วิจารณ์ใช้ตัว ฏ ไม่ใช้ ฎ) และกล่าวหาราชบัณฑิตยสถานว่า บังอาจแก้ไขการเขียนคำนี้เสียใหม่เป็น “รัชดาภิเษก” ซึ่งเป็นแบบการเขียนตัวหนังสือในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ข้อเขียนนี้แสดงให้เห็นว่าท่านยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และสร้างความสงสัยสับสนแก่ผู้ที่ไปอ่านพบเข้า ดังที่มีผู้เขียนไปถามคุณเปรียญ ๗ ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ คุณเปรียญ ๗ ก็ได้ช่วยแก้ข้อสงสัยในฉบับวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๓ จึงใคร่ขอคัดลอกมาแสดงไว้ ณ ที่นี้

           กราบเรียนท่านเปรียญ ๗ ที่เคารพอย่างสูง

           ท่านคะ เมื่อวานอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เห็นท่านประยูร จรรยาวงษ์ เกรี้ยวกราดราชบัณฑิตยสถาน เกี่ยวกับคำว่า “รัชดาภิเษก” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ดิฉันไปเปิดดูบ้าง เห็นมีคำ “รัชฎาภิเษก (โบ) น. รัชดาภิเษก”

           จึงใคร่ขอกราบเรียนถามท่านว่า ตัว ฎ กับ ตัว ด เด็ก มีความแตกต่างกันอย่างไร ในภาษาบาลีออกเสียงตัว ฎ เหมือนตัว ด เด็กไหมคะ …

           และมีเหตุผลอย่างไรจึงได้เปลี่ยนตัวสะกดจาก ฎ มาเป็น ด เด็ก ละคะ ตัว ฎ เขียนสวยดีออก เสียดายจริง ๆ ค่ะ…

           ท่านเปรียญ ๗ ได้ตอบดังนี้

           “ขอเรียนว่า คำว่า รัชฎา กับคำว่า รัชดา นั้นมีความหมายอย่างเดียวกัน เพราะหมายถึง “เงิน” โบราณเขียนว่า รัชฎา ปัจจุบันพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เก็บไว้ในรูปคำว่า รัชดา เข้าใจว่าต้องการจะให้ตรงกับคำบาลีต้นกำเนิดว่า รัชต

           ภาษาบาลีไม่มี ด เด็ก และ ฎ ชฎา

           หลักไวยากรณ์ภาษาบาลีอีกเหมือนกัน มีตัวอักษรหลายตัวเปลี่ยนแทนกันได้ เช่น

           ฏ ปฏัก เป็น ต เต่า        ดัง   ปาฏิโมกข์             เป็น ปาติโมกข์
           ร เรือ เป็น ล ลิง            ดัง    มหาสาร               เป็น มหาศาล
           ณ เณร เป็น น หนู         ดัง    ประณีต                เป็น ประนีต
           ฐ สัณฐาน เป็น ถ ถุง     ดัง    ปฏิสัณฐาร            เป็น ปฏิสันถาร

           เพราะฉะนั้น เมื่อ ฏ เป็น ต เต่าได้ ฎ ชฎา จึงเป็น ด เด็กได้ และรัชฎา จึงเป็น รัชดา ได้ด้วยประการฉะนี้…”

           เพื่อความกระจ่างยิ่งขึ้น ใคร่ขอเพิ่มเติมข้อมูลอีกเล็กน้อยว่า คำว่า “รัชฎาภิเษก” (เขียนด้วย ฎ ชฎา ไม่ใช่ ฏ ปฏัก ตามข้อเขียนของผู้วิจารณ์) นั้นเป็นคำที่เคยใช้ในสมัยโบราณ พบในหนังสือเก่า ๆ และเมื่อครั้งที่กรมตำรา กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ได้ตีพิมพ์หนังสือปทานุกรมออกเผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ก็ได้มีความเห็นให้เก็บในรูป รัชดาภิเษก ดังนี้ :-

           รัชฎาภิเษก ควรใช้ รัชดาภิเษก

           รัชดาภิเษก น. อภิเษกบนกองเงิน เป็นพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินกระทำเมื่อครองราชสมบัติได้ ๒๕ ปี.

           นอกจากนี้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ และฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็เก็บไว้ทั้ง ๒ คำเช่นกันคือ

           รัชฎาภิเษก (โบ) น. รัชดาภิเษก.

            รัชดาภิเษก น. พิธีที่พระเจ้าแผ่นดินกระทำเมื่อครองราชสมบัติได้ ๒๕ ปี.

           คำ (โบ) ที่วงเล็บไว้ท้ายคำ รัชฎาภิเษก หมายความว่าเป็นรูปคำที่เขียนอย่างโบราณ ปัจจุบันเขียนเป็น รัชดาภิเษก  เหตุผลที่ให้ใช้ ด เด็ก เพราะ “รัชดา” นั้นมาจากคำภาษาบาลีว่า “รชต” ซึ่งแปลว่า เงิน เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยจึงแผลง “ต” เป็น “ด” เช่นเดียวกับคำ “ติถิ” แผลงเป็น “ดิถี” “ติรจฺฉาน” แผลงเป็น “ดิรัจฉาน เดรัจฉาน” “เจติย” แผลงเป็น “เจดีย์” เป็นต้น หลักการแผลงคำเช่นนี้มักจะใช้เสมอเมื่อมีการนำคำบาลีหรือสันสกฤตเข้ามาใช้ในภาษาไทย

           คำ รัชดาภิเษก จึงเขียนได้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าเขียน รัชฎาภิเษก เป็นรูปคำโบราณ ถ้าเขียน รัชดาภิเษก เป็นรูปคำที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ชื่อถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นถนนที่รัฐบาลได้ตัดขึ้นใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติมาครบ ๒๕ ปี จึงเขียนถูกต้องแล้ว.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๓