ราคาเลือกปฏิบัติ

          ในระยะนี้มีข่าวว่าค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นเรื่อย ๆ บ้างก็ว่าเป็นไปตามกระแสของค่าเงินในภูมิภาค บ้างก็ว่าเป็นเพราะเหตุอื่น  แต่ข่าวดังกล่าวก็ทำให้มีผู้ส่งสินค้าออกต้องคิดทบทวนการผลิตสินค้าเช่นกัน  เพราะถ้าค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้แล้ว รายได้จากการส่งออกจะเป็นเช่นไรเมื่อต้องแข่งขันกับผู้ผลิตจากประเทศอื่น  การผลิตสินค้าควรจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร หรือว่าควรแสวงหาช่องทางจัดจำหน่ายในประเทศใหม่ ๆ บ้างหรือไม่  และที่สำคัญคือ ราคาสินค้าที่จะส่งออกนั้น ควรตั้งราคาขายเท่าใดจึงจะเหมาะสม  ปรากฏการณ์เช่นนี้มีคำอธิบายที่น่าสนใจ วันนี้เราลองมารู้จักคำว่า “การตั้งราคาแบบเลือกปฏิบัติ” กันนะคะ

          การตั้งราคาแบบเลือกปฏิบัติ หรือ price discrimination  (อาจจะฟังดูมีอคตินิด ๆ  แต่ก็นิยมใช้กันโดยทั่วไปแล้ว ท่านที่ต้องการจะเสนอศัพท์บัญญัติคำใหม่ ก็เสนอแนะมาที่ราชบัณฑิตยสถานได้ ยินดีรับฟังเสมอค่ะ)  คำนี้ในพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาตร์  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง วิธีการที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายตั้งราคาสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันในราคาที่แตกต่างกันสำหรับผู้ซื้อแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ได้รับรายได้สูงสุด การตั้งราคาแบบเลือกปฏิบัติจะต้องมีเงื่อนไขสำคัญบางประการคือ ๑. ผู้ขายมีอำนาจในการผูกขาดในการขายสินค้าหรือบริการนั้น   ๒. สามารถจำแนกลักษณะความต้องการของผู้ซื้อแต่ละกลุ่มให้คนกลุ่มอื่นได้   ๓. ผู้ซื้อสินค้านั้นไม่สามารถนำสินค้าไปขายต่อให้คนกลุ่มอื่นได้

          รูปแบบการตั้งราคาแบบเลือกปฏิบัติมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้าหรือบริการ เช่น โรงพยาบาล อาจตั้งราคาสูงในกรณีที่ลูกค้ามีรายได้สูงที่จะซื้อบริการในระดับนั้นได้ การตั้งราคาดังกล่าวเนื่องจากโรงพยาบาลพยายามที่จะขายบริการในราคาที่สูงที่สุดที่ผู้ซื้อยินดีจะจ่าย  อย่างไรก็ตาม การตั้งราคาแบบเลือกปฏิบัติ โดยทั่วไปจะตั้งราคาสินค้าตามลักษณะความยืดหยุ่นของอุปสงค์ เช่น สินค้าชนิดเดียวกันอาจจะตั้งราคาขายในประเทศสูง  เนื่องจากผู้ขายมีอำนาจผูกขาดในประเทศ  แต่สินค้าชนิดเดียวกันเมื่อส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศอาจจะตั้งราคาต่ำ  เนื่องจากต้องแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นในต่างประเทศ  เวลาไปต่างประเทศก็ดูให้ดีนะคะ  บางครั้งอาจซื้อสินค้า “made  in Thailand” กลับมาบ้างก็ได้

จินดารัตน์  โพธิ์นอก