ราคา

          พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ราคา หรือ price หมายถึง มูลค่าของทรัพย์สิน สิ่งของ หรือบริการที่คิดเป็นเงิน  ราคาจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน โดยอุปสงค์มีที่มาจากความพอใจหรืออรรถประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากสินค้าหรือบริการ  ส่วนอุปทานมีที่มาจากความขาดแคลน (scarcity) ของสินค้าหรือทรัพยากรที่นำมาผลิตสินค้าหรือบริการ หรืออิทธิพลของผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้าหรือบริการในตลาด ในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ราคาจะเป็นกลไกสำคัญเสมือนมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) ที่แสดงนัยพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ๒ ประการ คือ ราคาเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าตลาดหรือระบบเศรษฐกิจต้องการสินค้าหรือบริการใด และราคาเป็นแรงกระตุ้นหรือพลังขับเคลื่อนให้มีการผลิตสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นหรือลดลง

          การทำงานของ กลไกราคา (price mechanism)  เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเชื่อมั่นว่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้ เพราะว่า  กลไกราคา หมายถึง  กระบวนการปรับตัวของราคาสินค้าหรือบริการ หรือปัจจัยการผลิตที่เกิดขึ้นตามแรงผลักดันของอุปสงค์และอุปทานในตลาด โดยปราศจากการแทรกแซงใด ๆ  ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กลไกราคาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับการทำงานของหน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้เข้าสู่จุดสมดุลของตลาด ในกรณีที่อุปสงค์มากกว่าอุปทาน ราคาสินค้าจะสูงขึ้น  นำไปสู่การผลิตสินค้านั้นเพิ่มขึ้นหรือมีผู้ขายรายใหม่เข้าสู่ตลาด  ทำให้ราคาสินค้านั้นลดลงจนเข้าสู่จุดสมดุลในที่สุด

          ศัพท์อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ราคาเป็นเครื่องมือคือ การแข่งขันด้านราคา (price competition) หมายถึง การแข่งขันของผู้ผลิตหรือผู้ขายในตลาดโดยใช้ราคาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ขายสินค้าหรือบริการได้มากขึ้นหรือได้ส่วนแบ่งในการครองตลาดมากขึ้น การแข่งขันทางด้านราคานั้นโดยทั่วไปจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่มีการแข่งขันด้านราคาอย่างเสรีและเป็นธรรม จะทำให้ผู้ผลิตในตลาดปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนให้มีประสิทธิภาพและผลิตภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม.

          จินดารัตน์  โพธิ์นอก