ราชบัณฑิตยสถาน

          เมื่อเอ่ยถึง “ราชบัณฑิตยสถาน” คงมีหลายคนที่ยังไม่รู้จักว่าหน่วยงานนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรและทำหน้าที่อะไร  วันนี้เราจะมาทำความรู้จักราชบัณฑิตยสถานให้มากขึ้นค่ะ  หนังสือสารานุกรมไทย เล่ม ๒๕ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ได้เล่าถึงราชบัณฑิตยสถานไว้ว่า ราชบัณฑิตยสถาน เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม  เป็นหน่วยงานอิสระ อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศว่าเดิมกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครมีหน้าที่แต่จัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครอย่างเดียว  โดยมีกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครทำหน้าที่อำนวยการวรรณคดีสโมสร และหน้าที่ตรวจรักษาของโบราณในพระราชอาณาเขต  พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ เพิ่มหน้าที่ให้จัดการในด้านพิพิธภัณฑสถานและบำรุงวิชาความรู้ด้วย พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า นามที่เรียก กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครนั้น ไม่สมกับหน้าที่ ประกอบกับทรงเห็นสมควรฟื้นฟูกิจการของกรมราชบัณฑิตย์ซึ่งมีมาแต่โบราณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง ราชบัณฑิตยสภา ขึ้น  ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สมควรจัดตั้งราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ขึ้น ราชบัณฑิตยสถานจึงได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งในปัจจุบันได้ใช้พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นหลักในการบริหารงาน 

          หน้าที่หลักของราชบัณฑิตยสถานนอกจากจะดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อนุกรมวิธาน อักขรานุกรม การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาวิชาต่าง ๆ และกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยแล้ว ยังมีหน้าที่อนุรักษ์ภาษาไทย ส่งเสริมภาษาไทย ค้นคว้า วิจัย บำรุงสรรพวิชา แล้วนำผลงานที่ได้สร้างสรรค์นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน ติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสานงานทางวิชาการกับองค์การปราชญ์และสถาบันทางวิชาการอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ให้ความเห็น คำแนะนำ และคำปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ตลอดจนให้บริการทางวิชาการแก่หน่วยงานและประชาชนทั่วไปด้วย.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์