รู้เรื่องแร่ ๑

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายความหมายของแร่ไว้ดังนี้ “ธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีสูตรเคมีและสมบัติอื่น ๆ ที่แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ในวงจำกัดและนำมาถลุงได้ เช่น แร่ดีบุกนำมาถลุงได้โลหะดีบุก แร่ทองคำนำมาถลุงได้โลหะทองคำ”

          นอกจากนั้น พจนานุกรมแร่และอัญมณี ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายความเรื่องแร่ไว้เช่นกัน ผู้เขียนขอนำสาระที่สำคัญมากล่าวถึง ดังนี้

          แร่ หมายถึง ธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีโครงสร้างภายในที่เป็นระเบียบ มีสูตรเคมีและสมบัติอื่น ๆ ที่แน่นอน หรือเปลี่ยนแปลงได้ในวงจำกัด อาจเกิดจากธาตุเพียงธาตุเดียว เช่น เพชร (C) ทองคำ (Au) หรือเกิดจากธาตุมากกว่า ๑ ชนิดก็ได้ สามารถจำแนกได้เป็นกลุ่มคือ ๑. ตามส่วนประกอบทางเคมี ๒. ตามการนำไปใช้

          ตามส่วนประกอบทางเคมี ได้แก่ (๑) ธาตุธรรมชาติ มีทั้งที่เป็นโลหะ กึ่งโลหะ และอโลหะ (๒) ซัลไฟด์ อาร์เซไนด์ และซัลโฟซอลต์ ส่วนใหญ่พบเป็นสินแร่ในแหล่งแร่ (๓) ออกไซด์และไฮดรอกไซด์ เป็นแร่ที่มีออกซิเจนประกอบ พบมากในธรรมชาติ (๔) เฮไลด์ เป็นแร่ที่มีคลอรีน โบรมีน หรือฟลูออรีน เป็นส่วนประกอบ (๕) คาร์บอเนต พบแพร่หลายทั่วไป อาจเกิดจากการแปรสภาพของแร่อื่น หรือเกิดสะสมตัวโดยกรรมวิธีทางเคมี หรือจากการกระทำของสิ่งมีชีวิต (๖) ซัลเฟตและทังสเตต (๗) ฟอสเฟต (๘) ซิลิเกต เป็นกลุ่มแร่ที่มีส่วนประกอบของธาตุซิลิกอนและออกซิเจนร่วมกับธาตุอื่น ๆ เป็นกลุ่มแร่ที่ประกอบหินที่สำคัญ เช่น เบริล โอลิวีน

          ตามการนำไปใช้ ได้แก่ (๑) แร่ประกอบหิน คือ แร่ที่เป็นส่วนประกอบของหิน มักมีปริมาณน้อยและกระจายอยู่ในเนื้อหิน (๒) แร่เศรษฐกิจ หรือแร่อุตสาหกรรม ซึ่งจำแนกเป็น กลุ่มแร่โลหะพื้นฐาน กลุ่มแร่เหล็กและเหล็กกล้า กลุ่มแร่โลหะมีค่า กลุ่มแร่หายาก กลุ่มแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรม แร่กัมมันตรังสี แร่เชื้อเพลิง เป็นต้น (มีต่อรู้เรื่องแร่ ๒)

          สำรวย นักการเรียน