ฤดูที่แตกต่าง

          คำว่า ฤดู เป็นคำที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีความหมายหลายอย่าง อาทิ ส่วนของปีซึ่งแบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก เช่น ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน หรือ เวลาที่กําหนดสําหรับงานต่าง ๆ เช่น ฤดูทอดกฐิน หรือ เวลาที่เหมาะ เช่น ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์

          ในทางภูมิศาสตร์ คำว่า ฤดู ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า season มีความหมายเกี่ยวกับเรื่องของภูมิอากาศที่เฉพาะมากกว่าในพจนานุกรมฯ คือ เป็นช่วงเวลาต่าง ๆ ของปีโดยแบ่งตามภูมิอากาศของแต่ละบริเวณซึ่งขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของรังสีดวงอาทิตย์ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น ๔ ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม มีเพียง ๓ ฤดู คือ ฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม และฤดูฝน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม

          ชื่อฤดูอีกคำหนึ่งที่เป็นคำทับศัพท์และปรากฏในหนังสือพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๔ ซึ่งผู้เขียนคิดว่ายังไม่เป็นที่รู้จักมากนักของคนทั่วไป คือ ฤดูไบอุ ทับศัพท์มาจากคำว่า Bai-u หมายถึง ฤดูที่มีฝนตกหนักที่สุดในประเทศญี่ปุ่นตอนใต้ และในบางส่วนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตรงกับเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคมในประเทศญี่ปุ่น และเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมในสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการหว่านพืชและดำนา ฤดูที่ฝนตกหนักติดต่อกันนี้ตรงกับฤดูกาลที่ลูกพลัมสุก ดังนั้น จึงเรียกฝนที่ตกในฤดูนี้ว่า ฝนลูกพลัม (plum rain) ในประเทศญี่ปุ่น บางทีเรียกฤดูนี้ว่า สึยุ (tsuyu) จะเห็นได้ว่าฤดูไบอุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับฤดูฝนของประเทศไทย เพียงแต่ฤดูฝนจะมีช่วงเวลายาวนานกว่า.

อารี พลดี