“ลม”

          ปรากฏการณ์ “ลม”  เราสามารถประสบได้ในทุกวัน  แต่อาจยังไม่รู้จักดีพอ วันนี้จึงขอให้คำอธิบาย “ลม” ดังนี้ พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ได้ให้ความหมายของคำว่า “ลม” (wind) ไว้ ว่า เป็นอากาศที่เคลื่อนที่ไปบนผิวโลกตามแนวนอนในทุกทิศทางและด้วยความเร็วต่าง ๆ กัน ทิศทางของลมทราบได้จากทิศซึ่งลมพัดเข้าหาตัวตามที่กำหนดไว้บนเข็มทิศ  ปรากฏการณ์ “ลม” ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น  ลมบก (land breeze) คือ ลมที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลอุ่นกว่าอุณหภูมิของพื้นดินที่อยู่ใกล้เคียง อากาศเหนือผิวน้ำจะลอยตัวสูงขึ้น  อากาศจากพื้นดินจึงไหลเข้าไปแทนที่  ทำให้เกิดเป็นลมพัดออกจากฝั่งไปสู่ทะเล  ตามปรกติลมจะพัดออกจากฝั่งในเวลากลางคืน ตรงกันข้ามกับลมทะเล ซึ่งลมทะเล (sea breeze)  คือ ลมที่พัดจากทะเลสู่แผ่นดินในช่วงตอนบ่าย เกิดจากความแตกต่างระหว่างความร้อนกับความเย็นของแผ่นดินและน้ำ อากาศร้อนในแผ่นดินที่เกิดขึ้นในช่วงกลางวันส่งผลให้เกิดอากาศร้อนในพื้นที่ที่มีความกดอากาศต่ำ  และอากาศเย็นจากทะเลถูกพัดพาเข้าสู่ฝั่งเป็นระยะทางสั้นแทนที่อากาศร้อน จึงทำให้เกิดลมทะเลพัดเอื่อย ๆ  ในเขตที่อากาศเปลี่ยนแปลงตามปรกติ  โดยเฉพาะในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร  ลมเช่นนี้หากเกิดขึ้นในบริเวณทะเลสาบขนาดใหญ่ เรียกว่า ลมทะเลสาบ (lake breeze) 

          นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ “ลม” ที่มีความรุนแรงของความเร็วลมมากที่พบในประเทศไทย คือ “ลมมรสุม” หรือ “มรสุม” (monsoon) เป็นลมประจำฤดู คำนี้มาจากภาษาอาหรับ คือ mausim แปลว่า ฤดูกาล ในครั้งแรกใช้เรียกลมที่เกิดขึ้นในย่านทะเลอาหรับ ซึ่งพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเวลา ๖ เดือน  และจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นเวลา ๖ เดือน ต่อมาได้นำคำนี้ไปใช้เรียกลมที่พัดเปลี่ยนทิศทางตามฤดูกาลในรอบปีเช่นนี้ อันเนื่องมาจากความแตกต่างของหย่อมความกดอากาศเหนือภาคพื้นทวีปกับมหาสมุทรที่อยู่ข้างเคียง  ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ บริเวณอนุทวีปอินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฤดูร้อน ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดพาความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรเข้าสู่แผ่นดิน ทำให้เกิดฝนตกโดยทั่วไป ส่วนในฤดูหนาว ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากพื้นแผ่นดินในทวีปจะนำความแห้งแล้งมาให้เป็นบางส่วน เว้นแต่บางพื้นที่ที่ลมนี้พัดผ่านมหาสมุทรก่อนขึ้นสู่แผ่นดินอีกครั้งจึงจะนำฝนมาตกบ้าง 

          อิสริยา  เลาหตีรานนท์