ลอยแพ

          คำว่า ลอยแพ คงเป็นคำที่คุ้นหูคนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย คงจะมีพนักงานลูกจ้างทั้งหลายถูกลอยแพมากขึ้น ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงการเลิกจ้างนั่นเอง  คำว่า “ลอยแพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า จับใส่แพแล้วปล่อยให้ลอยล่องไปในน้ำตามยถากรรม เช่น สมัยโบราณเอาคนชั่วลอยแพไป นางกากีถูกลอยแพ โดยปริยายหมายถึง ปล่อยให้ตกอยู่ในสถานะลำบาก เช่น โรงงานขาดทุนต้องปิดกิจการ คนงานจึงถูกลอยแพ 

          นอกจากความหมายดังกล่าวแล้ว การลอยแพยังเป็นโทษอย่างหนึ่งในวิธีลงโทษผู้กระทำความผิดในสมัยโบราณ โดยการเอาตัวผู้กระทำผิดใส่แพลอยน้ำ ซึ่งจะลอยในแม่น้ำหรือทะเลก็แล้วแต่ความผิดที่กระทำ  จากกฎหมายตราสามดวง “พระไอยการลักษณผัวเมีย” ปรากฏโทษนี้ในมาตราที่ ๓๕ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ที่เป็นญาติใกล้ชิดมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกัน คือ หลานทำชู้กับย่า ยาย ป้า อา น้าของตนเอง ซึ่งผู้กระทำผิดทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะถูกลงโทษด้วยการใส่ตรวน ขื่อ คา แล้วเอาหมึกสักหน้า เอาเชือกหนังผูกคอ ตระเวนรอบตลาด แล้วเฆี่ยนด้วยลวดหนัง จากนั้นจึงให้ “ทำแพลอย” ที่นอกเมือง อย่าให้เอาเยี่ยงอย่างกัน และในมาตราที่ ๓๖ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่พ่อแม่พี่น้องตายายลุงน้าลูกหลานทำชู้กัน ให้ “ทำแพลอย” ผู้กระทำผิดในทะเล  ทั้งยังต้องให้พระสงฆ์และพราหมณ์สวดมนต์ทำพิธีเพื่อป้องกันอุบาทว์จัญไรที่จะเกิดแก่บ้านเมืองด้วย เพราะเชื่อกันว่าหากเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นแล้วจะเป็นอุบาทว์จัญไรแก่บ้านเมือง ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล  แสดงให้เห็นว่า ในสมัยโบราณการกระทำความผิดเช่นนี้ถือว่าร้ายแรงมากในสังคม เพราะมิใช่จะเกิดความผิดเฉพาะผู้กระทำเท่านั้น หากยังกระทบถึงศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกด้วย  เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง ทำให้เห็นความย่อหย่อนทางศีลธรรมของคนในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนทีเดียว.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน