ละติจูด ลองจิจูด

          เด็กนักเรียนสมัยก่อนเมื่อเรียนวิชาภูมิศาสตร์มักจะเริ่มที่คำว่า  “เส้นรุ้ง” กับ “เส้นแวง” ซึ่งท่องกันติดปากว่า “รุ้งตะแคง แวงตั้ง” ในปัจจุบันเส้นรุ้งก็คือ ละติจูด ส่วนเส้นแวงคือ ลองจิจูด ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์และให้รายละเอียดของละติจูดและลองจิจูด ไว้ในพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้

          ละติจูด (latitude) เป็นระยะทางเชิงมุมที่วัดไปตามขอบเมริเดียนซึ่งผ่านตำบลที่ตรวจ โดยนับ ๐ องศาจากเส้นศูนย์สูตรไปทางเหนือหรือใต้จนถึง ๙๐ องศาที่ขั้วโลกทั้งสอง หรือเป็นมุมแนวตั้งที่ศูนย์กลางโลกระหว่างเส้นรัศมีของโลกที่ผ่านจุดซึ่งเส้นเมริเดียนตัดเส้นศูนย์สูตรกับเส้นรัศมีที่ผ่านตำบลที่ตรวจ   ส่วน ลองจิจูด (longitude) เป็นระยะทางเชิงมุมระหว่างเมริเดียนกรีนิชกับเมริเดียนซึ่งผ่านตำบลที่ตรวจซึ่งวัดไปตามขอบของเส้นศูนย์สูตร หรือขอบของเส้นขนานละติจูด หรือเป็นมุมแนวระดับที่แกนโลกในระหว่างพื้นของเมริเดียนกรีนิชกับพื้นของเมริเดียนซึ่งผ่านตำบลที่ตรวจ ตามปรกติวัดเป็นองศา ลิปดา และพิลิปดา โดยนับ ๐ องศาจากเมริเดียนกรีนิชจนถึง ๑๘๐ องศาไปทางตะวันออกหรือตะวันตกของเมริเดียนกรีนิช

          นอกจากนี้จะขออธิบายถึงคำที่เกี่ยวข้องคือ เส้นเมริเดียน และเมริเดียนกรีนิช  คำว่า เส้นเมริเดียน (meridian) คือ ขอบของครึ่งวงกลมใหญ่ที่ผ่านขั้วเหนือและขั้วใต้ของโลก ใช้เป็นเครื่องกำหนดแนวเหนือ-ใต้ของโลก ซึ่งเรียกว่าเหนือจริง ใต้จริง หรือเหนือภูมิศาสตร์ ใต้ภูมิศาสตร์ ตำแหน่งเส้นเมริเดียนบนผิวโลกแต่ละเส้นกำหนดได้ด้วยค่าลองจิจูดของเมริเดียนนั้น  ส่วน เมริเดียนกรีนิช (Greenwich meridian) คือ เส้นเมริเดียนที่ผ่านหอดูดาว ณ ตำบลกรีนิช กรุงลอนดอน อังกฤษ ใช้เป็นศูนย์ในการกำหนดค่าต่อไปนี้ ๑) พิกัดภูมิศาสตร์ เป็นจุดตั้งต้นของค่าลองจิจูด ซึ่งใช้ประกอบกับค่าละติจูดในการกำหนดตำแหน่งของสถานที่ต่าง ๆ บนพื้นผิวโลก โดยเมริเดียนกรีนิชนี้จะมีค่าลองจิจูด ๐ องศา  ๒) เวลามาตรฐานสากล เวลาของท้องถิ่นที่อยู่ห่างจากเมริเดียนกรีนิชไปทางตะวันออก ๑ องศา จะเร็วกว่าเวลาที่กรีนิช ๔ นาที แต่ถ้าอยู่ห่างไปทางตะวันตก ๑ องศา จะช้ากว่าเวลาที่กรีนิช ๔ นาที.

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์