ละออง

          คำว่า ละออง มีความหมายอย่างหนึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า สิ่งซึ่งมีลักษณะเป็นผงเป็นฝอยละเอียดยิบ เช่น ละอองฝน ละอองน้ำ ละอองฟาง ละอองข้าว ศัพท์บัญญัติสาขาวิชาต่าง ๆ ของราชบัณฑิตยสถาน มีคำว่า “ละออง” ประกอบอยู่หน้าคำอื่นเป็นคำประสมที่มีความหมายเฉพาะแตกต่างกันออกไป เช่น “ละอองลอย” เป็นศัพท์บัญญัติของคำ aerosolละอองเรณู” เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า pollen grain

          ในทางการแพทย์แผนไทย ละออง หมายถึง ชื่อโรคเด็กชนิดหนึ่ง เกิดกับทารกแรกเกิดถึงเด็กอายุไม่เกิน ๕ ขวบ ๖ เดือน ผู้ป่วยจะมีฝ้าบาง ๆ เกิดขึ้นในปาก ลำคอ กระพุ้งแก้ม หรือบนลิ้น โดยฝ้านี้อาจมีสีต่าง ๆ กัน ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ละอองยังมีเจ้าเรือนและชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามวันเกิดของผู้ป่วยด้วย ดังตัวอย่างที่ปรากฏในพจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนี้

          ละอองแก้ววิเชียร เป็นละอองที่เกิดกับทารกหรือเด็กที่เกิดวันจันทร์ มีซางน้ำเป็นซางเจ้าเรือน ผู้ป่วยมักมีฝ้าสีขาวเป็นมันเมือก และมีอาการท้องขึ้น ท้องอืดมาก ท้องร่วงนับครั้งไม่ถ้วน เบื่ออาหาร ถ้ารุนแรงผู้ป่วยจะมีไข้ นอนไม่หลับ สะดุ้ง ผวา ไอมาก ชักตาเหลือก ละอองมหาเมฆ เป็นละอองที่เกิดกับทารกหรือเด็กที่เกิดวันพฤหัสบดี มีซางโคเป็นซางเจ้าเรือน ผู้ป่วยมักมีเม็ดยอดสีม่วงคล้ำขึ้นในปาก ถ้ารุนแรงขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเขียว ชัก เท้ากำมือกำ ตาช้อนสูง อุจจาระปัสสาวะไม่ออก ละอองเปลวไฟฟ้า เป็นละอองที่เกิดกับทารกหรือเด็กที่เกิดวันเสาร์ มีซางโจรเป็นซางเจ้าเรือน และทารกหรือเด็กที่เกิดวันอาทิตย์ มีซางเพลิงเป็นซางเจ้าเรือน ผู้ป่วยมักมีเม็ดหรือยอดสีแดงคล้ายสีชาดหรือสียอดทับทิมผุดขึ้นตามฝ้าบาง ๆ เมื่อรุนแรงมักมีอาการลิ้นกระด้าง คางแข็ง ตาค้าง ชัก เท้ากำมือกำ ตัวร้อนจัด ละอองทั้ง ๓ ชนิดที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นละอองที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นตายได้ เรียก ละอองพระบาท.

อารี พลดี