ลัทธิศักติ

          หนึ่งในลัทธิที่บูชาเทพีของศาสนาฮินดู คือ ลัทธิศักติ   เทพีองค์ใดบ้างที่ลัทธินี้บูชา และมีความเป็นมาอย่างไร  พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ (แก้ไขเพิ่มเติม) อธิบายว่า

          ลัทธิศักติ (Shaktism) คือลัทธิที่บูชาเทพี ปรัชญาของลัทธิศักติมีว่า ในมหาเทพ เช่น พระศิวะ มีพลังอำนาจ ๒ ชนิด คือ พลังอำนาจที่เป็นของบุรุษเพศและพลังอำนาจที่เป็นของสตรีเพศ เหมือนมนุษย์ผู้ชายทั่วไปย่อมมีลักษณะนิสัย ๒ ลักษณะ คือลักษณะที่เป็นชาย มีความแข็งแรง กล้าหาญ อดทน และมีอารมณ์ทางเพศแบบชาย และลักษณะที่เป็นหญิง มีความอ่อนหวาน นุ่มนวล รักสวยรักงาม ขี้อาย และมีอารมณ์ทางเพศแบบหญิง ลัทธิศักตินำพลังอำนาจที่เป็นของสตรีเพศมาพัฒนาเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่โลก  โดยพรรณนาว่าเป็นศักติหรือชายาของมหาเทพ ๓ องค์ คือ

          ๑) พระสรัสวดี เป็นศักติของพระพรหม ในสมัยพระเวทเป็นเทพีแห่งลำน้ำ  ต่อมาได้รับยกย่องเป็นเทพีแห่งวาจาและศิลปศาสตร์  ทรงหงส์เป็นพาหนะ มี ๔ กร ถือพิณ คัมภีร์ สายลูกประคำ และภิงคาร ตามลำดับ

          ๒) พระลักษมี หรือ ศรี เป็นศักติของพระวิษณุ ตามตำนานเล่าว่า เกิดจากฟองน้ำ  ในสมัยพระเวทมีความหมายว่าโชคดี ไม่มีอุปสรรค ต่อมาในสมัยที่พระวิษณุได้รับยกย่องเป็นมหาเทพสูงสุด พระลักษมีก็ได้รับยกย่องว่าเป็นเทพีแห่งโชคลาภ  มีหลายชื่อแล้วแต่คุณลักษณะ เช่น ศรี ปัทมา กมลา อินทิรา โลลา อัญจลา โลกมาตา ชลธิชา สีดา

          ๓) พระอุมา พระเคารี หรือพระปารวตี ในปางละมุนละไม และเจ้าแม่กาลี เจ้าแม่ทุรคา หรือจามุณฑี ในปางดุร้าย เป็นศักติของพระศิวะ  พระอุมา หมายถึง แสงสว่าง ปรากฏครั้งแรกในเกนอุปนิษัท ต่อมาในสมัยที่พระศิวะได้รับยกย่องเป็นมหาเทพสูงสุด พระอุมาก็ได้รับยกย่องเป็นเทพีแห่งความงาม มีลักษณะเด่น ๒ ลักษณะจึงสำแดงออกมา ๒ ปาง คือ ปางที่ละมุนละไม เป็นพระอุมา พระเคารี (ฉวีสีเหลือง) พระปารวตี (เทพธิดาแห่งภูเขา) เป็นเทพีแห่งความซื่อสัตย์ และปางดุร้าย เป็นเจ้าแม่ทุรคา เทพีแห่งสงคราม เจ้าแม่กาลี เทพีแห่งชัยชนะ เทพีปางดุร้ายนี้ได้รับความเคารพนับถือสักการะมากเป็นพิเศษ เช่น ที่โบสถ์เจ้าแม่กาลี ในเมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอล จะมีพิธีบูชาเจ้าแม่กาลีด้วยเลือดแพะหรือแกะ.

       กนกวรรณ  ทองตะโก