วัฏจักรของน้ำ

          น้ำเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับมนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน  มนุษย์ใช้น้ำด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งอุปโภคและบริโภค  ทั้งนี้ น้ำยังคงมีบทบาทต่อความเป็นไปของความสมดุลในโลก จากหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาตร์ไทย เล่ม ๑ ได้ให้รายละเอียดของน้ำ และวัฏจักรของน้ำไว้ดังนี้ น้ำเป็นทรัพยากรที่ไม่สูญหาย  ปรากฏอยู่บนโลกใน ๓ สถานะ คือ “น้ำ” ในสถานะของเหลว “น้ำแข็ง” ในสถานะของแข็ง และ “ไอน้ำ” ในสถานะของก๊าซ   น้ำมีบทบาทสำคัญในการรักษาอุณหภูมิของโลกให้พอเหมาะ  และเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย  จากความสำคัญของน้ำนี้หลายคนคงสงสัยว่า น้ำมีวัฏจักรอย่างไร จึงขอให้รายละเอียด ดังนี้  วัฏจักรของน้ำ คือ การหมุนเวียนของน้ำในโลกซึ่งจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น  โดยพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ส่องกระทบผิวน้ำ  ทำให้น้ำจากแหล่งต่าง ๆ ระเหยกลายเป็นไอน้ำลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ  เมื่อกระทบกับอากาศเย็น  ไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ  รวมตัวกันเป็นกลุ่มหมอกหรือเมฆ และเมื่อการรวมตัวของเมฆใหญ่ขึ้น  จนบรรยากาศรับน้ำหนักไม่ไหว ก็จะตกสู่พื้นโลกในรูปของน้ำจากฟ้าชนิดต่าง ๆ  เช่น น้ำฝน ลูกเห็บ หิมะ น้ำบางส่วนถูกพืชดูดซึมเข้าไปแล้วคายออกทางใบ  บางส่วนไหลซึมลงสู่ใต้ดิน เรียกว่า น้ำใต้ดิน บางส่วนขังอยู่ตามหนอง บึง หรือทะเลสาบ และบางส่วนไหลบ่าไปบนพื้นดิน เรียกว่า น้ำท่า แล้วลงสู่ห้วย ลำคลอง แม่น้ำ เป็นน้ำผิวดิน ซึ่งจะไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทรต่อไป  ดังนั้น จึงแบ่งแหล่งน้ำธรรมชาติออกได้ ๓ ประเภท คือ น้ำฟ้า (atmospheric water) น้ำผิวดิน (surface water) หรือน้ำท่า (runoff) และน้ำใต้ดิน (subsurface water)   ประเภทของน้ำที่มนุษย์ใช้ประโยชน์มากที่สุดคือ น้ำผิวดิน

          น้ำผิวดิน นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การเกษตร การผลิตพลังงานไฟฟ้า และการรักษาระบบนิเวศวิทยาทางด้านท้ายน้ำ โดยการนำไปใช้จากแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง  และการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ การที่จะนำทรัพยากรน้ำผิวดินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำ และจำเป็นต้องทราบถึงศักยภาพของทรัพยากรน้ำในธรรมชาติด้วย  เราจึงควรร่วมมือกันรักษาทรัพยากรน้ำในโลกให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์