วัดบางลำพู

          ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แม้จะเป็นถนนสายเล็ก ๆ แต่มีความคึกคักตลอด ๒๔ ชั่วโมง เนื่องจากอยู่ใกล้ย่านการค้าที่ผู้คนนิยมมาจับจ่ายใช้สอยเช่นย่านบางลำพู ถนนข้าวสาร และยังมีสวนสาธารณะที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือ สวนสาธารณะสันติชัยปราการแต่ที่หลายคนอาจหลงลืมไปคือในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีวัดเก่าแก่อยู่วัดหนึ่งชื่อ วัดบางลำพู ซึ่งในปัจจุบันคือ วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร วันนี้จึงได้นำคำอธิบายจากพจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ของนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ จัดพิมพ์โดยราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งกล่าวถึงวัดบางลำพูไว้มาเสนอดังนี้

          วัดสังเวชวิศยารามวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานปีที่สร้างและผู้สร้าง เดิมเรียกกันว่า วัดสามจีน หรือวัดบางลำพู เล่ากันว่า ชาวจีน ๓ คนร่วมกันสร้างวัดขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดสามจีนพระราชทานแก่นักชี พระอัยยิกาของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร พระธิดา นักชีเป็นพระมารดาของเจ้าจอมมารดานักองค์อี พระธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา แต่ไม่ปรากฏปีที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดสามจีนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดสังเวชวิศยาราม ใน พ.ศ. ๒๔๑๒ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดสังเวชถูกเพลิงไหม้ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระเมรุที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาสร้างเป็นเสนาสนะที่วัดสังเวช ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและพระอุโบสถใหม่ แต่ยังไม่เรียบร้อยนัก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) พระยานรนาถภักดี (เอม ณ ป้อมเพชร) และพระภิกษุในวัดจึงขอประทานพระอนุญาตจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส บูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ จนสำเร็จเรียบร้อย.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก