วันยุทธหัตถี

          ตามที่เราพอจะทราบกันอยู่บ้างแล้วว่า ประเทศไทยได้ประกาศเปลี่ยนวันยุทธหัตถีจากวันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปี แต่อาจจะมีหลายคนที่ไม่ทราบความเป็นมาในการเปลี่ยนแปลงนี้ และมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องเปลี่ยน

          วันยุทธหัตถี คือ วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ระบุว่า ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ซึ่งนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยและโหราศาสตร์ ได้คำนวณไว้ว่า ตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ เราจึงยึดถือวันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันยุทธหัตถีเรื่อยมา

          ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร ราชบัณฑิต ได้กรุณาอธิบายให้ฟังว่า การคำนวณเดิมคลาดเคลื่อนเนื่องมาจากการเทียบวันเถลิงศกผิด  วันเถลิงศก คือวันเปลี่ยนจุลศักราช ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายนเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๓ มาจนถึงปัจจุบัน และตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายนในบางปี  เนื่องจากปีจุลศักราชยาวไม่เท่ากับปีปฏิทินสากล เมื่อเริ่มจุลศักราช ๑ นั้น วันเถลิงศกตรงกับวันที่ ๒๒ มีนาคม ต่อมาเลื่อนเป็น ๒๓ ๒๔ ๒๕ มีนาคม มาเรื่อย ๆ จนเมื่อถึง จุลศักราช ๙๕๔ ปีที่มีการกระทำยุทธหัตถี วันเถลิงศกตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน ผู้คำนวณทราบว่าวันเถลิงศกตรงกับวันพฤหัสบดี จึงคิดว่าตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายน เหมือนในปัจจุบัน จึงคำนวณวันยุทธหัตถีล่ากว่าความจริงไป ๗ วัน

          ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร ได้คำนวณใหม่ว่า วันยุทธหัตถีตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ ซึ่งตรงกันกับที่พลตำรวจตรี สุชาติ  เผือกสกนธ์ เลขาธิการมูลนิธิพระดาบสและผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์คำนวณได้ และยังตรงกับที่หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ปราชญ์ด้านการศึกษาเคยคำนวณไว้ก่อนหน้านายฉันทิชย์ด้วย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้เปลี่ยนวันยุทธหัตถีเป็นวันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปี.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน