วันสำคัญตามข้างขึ้นข้างแรม

          วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญต่าง ๆ ในประเพณีไทย ส่วนหนึ่งกำหนดตามการโคจรของดวงจันทร์หรือตามพระจันทร์ที่เกิดข้างขึ้น ข้างแรม ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมมาให้อ่านดังนี้

          วันอัฐมี  วันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า วันมาฆบูชา หรือ วันเพ็ญ เดือน ๓ เป็นวันทำบุญพิเศษทางพระพุทธศาสนาเพื่อระลึกถึงความสำคัญ ๔ ประการ คือ ๑. วันเพ็ญดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (ดวงจันทร์เดินมาถึงดาวฤกษ์ชื่อ มฆะ ส่วนในปีที่มีอธิกมาสจะตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔) ๒. พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมกันในวันนั้นล้วนเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง  ๔. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

          วันอาสาฬหบูชา อ่านว่า อา-สาน-หะ อา-สาน-ละ-หะ วันเพ็ญ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา วันเข้าพรรษา วันที่พระสงฆ์เริ่มเข้าจำพรรษา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘. วันออกพรรษา วันที่สิ้นสุดการจำพรรษาแห่งพระสงฆ์ คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  วันอุโบสถ วันขึ้น ๑๕ คํ่า และวันแรม ๑๕ คํ่า ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ คํ่า เป็นวันที่พระลงอุโบสถฟังพระปาติโมกข์และเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนถืออุโบสถศีลคือ ศีล ๘  วันดับ วันสิ้นเดือนทางจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๔ คํ่าหรือแรม ๑๕ คํ่า วันโกน วันที่พระปลงผม คือ วันขึ้นและวันแรม ๑๔ คํ่าหรือวันแรม ๑๓ คํ่าของเดือนขาด ภาษาปาก หมายถึง ชื่อวันก่อนวันพระวันหนึ่ง 

          วันฟู วันลอย ถือเป็นวันที่เป็นมงคลในเดือนทางจันทรคติสําหรับเริ่มกิจการต่าง ๆ  คู่กับ วันจม ซึ่งถือเป็นวันเคราะห์ร้ายในเดือนทางจันทรคติ เป็นวันห้ามทํากิจการใด ๆ ทั้งสิ้น.

รัตติกาล  ศรีอำไพ