วาสนา อิจฉา

          คำที่ยืมมาจากภาษาอื่นนั้น บางครั้งก็ไม่ได้นำความหมายเดิมของภาษานั้น ๆ มาด้วย นำแต่รูปคำมาใช้ แต่ความหมายของคำเพี้ยนออกไป บทความนี้ขอเสนอคำที่ดั้งเดิมมีความหมายอย่างหนึ่ง คนไทยรับมาใช้เพี้ยนความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง จำนวน ๒ คำ คือ วาสนา กับ อิจฉา

          วาสนา เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ความหมายเดิมของคำนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ดังนี้ “อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น”

          ส่วนความหมายที่ไทยรับมาใช้นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายไว้ดังนี้  “บุญบารมี กุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ เช่น เด็กคนนี้มีวาสนาดี เกิดในกองเงินกองทอง มักใช้เข้าคู่กับคำ บุญ หรือ บารมี เป็น บุญวาสนา หรือ วาสนาบารมี เช่น เป็นบุญวาสนาของเขา เขาเป็นคนมีวาสนาบารมีมาก”

          ส่วน อิจฉา ก็เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ความหมายเดิมของคำนี้ หมายถึง “ความอยาก ความต้องการ ความปรารถนา” แต่ไทยรับมาใช้ในความหมายว่า “เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง” ซึ่งในความหมายนี้นั้นตรงกับภาษาบาลีคือ อิสฺสา ตรงกับภาษาสันสกฤตคือ อีรฺษฺยา หรือรูปที่ไทยรับมาใช้ คือ ริษยา และคำ ริษยา นี้ พจนานุกรมฯ อธิบายว่า หมายถึง “อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้” นอกจากนั้น พจนานุกรมฯ ยังได้ระบุอีกว่า อิจฉานี้มีความหมายเบากว่าริษยา

          ท่านผู้อ่านคงได้ทราบถึงความหมายดั้งเดิมของคำและความหมายที่คนไทยใช้กันอยู่ เป็นแบบที่เรียกกันว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” นั่นเอง

สำรวย นักการเรียน