วิกฤต ฤๅ วิกฤติ กันแน่

          พบเห็นในสื่อหลายประเภททั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ บ้างใช้ วิกฤต บ้างใช้ วิกฤติ  อาจทำให้ผู้อ่านบางท่านสงสัยว่าแล้วคำไหนที่เขียนถูก ราชบัณฑิตยสถาน ขอตอบว่าถูกทั้งคู่ และเขียนได้ทั้ง ๒ แบบ

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยาม วิกฤต วิกฤต– วิกฤติ วิกฤติ–  [วิกฺริด วิกฺริดตะ–วิกฺริด วิกฺริดติ–] ว่า เป็นวิเศษณ์ หมายถึง อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย เช่น การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ มักใช้แก่เวลาหรือเหตุการณ์ เป็น วิกฤติกาล หรือ วิกฤติการณ์ อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น มุมวิกฤติ จุดวิกฤติ (ส.; ป. วิกต วิกติ) วิกฤตการณ์ วิกฤติการณ์ หมายถึง เหตุการณ์อันวิกฤติ เช่น เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง ส่วน วิกฤตกาล วิกฤติกาล หมายถึง เวลาอันวิกฤติ เช่น ในวิกฤติกาลข้าวของมีราคาแพงและหาซื้อยาก

          พจนานุกรมศัพท์พลังงาน ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ใช้ตัวสะกดวิกฤตในคำจุดวิกฤต (critical point) และให้นิยามว่า ภาวะที่อุณหภูมิและความดันของสารบริสุทธิ์ที่อยู่ในภาวะของเหลวและไอสมดุลกัน

          ยังพอมีเนื้อที่เหลือ ผู้เขียนขอคัดคำที่นำหน้าด้วย วิ มานำเสนอ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามของ วิ ว่า คํานําหน้าศัพท์ หมายถึง วิเศษ แจ้ง ต่าง เช่น วิสุทธิ วิเทศ วิกรม [วิกฺรม] เก่งกล้า ก้าวล่วงไปด้วยความกล้าหาญ มีชัยชนะ วิกรานต์ [วิกฺราน] กล้าหาญ มีชัยชนะ ก้าวหน้า วิการ พิการ ที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ มักใช้เข้าคู่กับคำ วิกล เป็น วิกลวิการ วิกาล วิกาล– [วิกาน วิกานละ–] ในยามค่ำคืนที่ค่อนไปทางดึก เช่น ขโมยเข้าบ้านในยามวิกาล; ผิดเวลา (ใช้แก่การกินอาหารผิดเวลาตามที่พระวินัยกำหนด นับตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น)

          วิกฤต กับ วิกฤติ นั้น จะเลือกใช้คำไหนก็ไม่ผิด แต่เมื่อประสมกับคำอื่นต้องอ่านออกเสียงให้ถูกต้องตามที่เลือกใช้นะคะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ