วิทยาศาสตร์มองศิลปะ

          ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวพันกับวิทยาการแทบทุกสาขา  ศิลปะก็เป็นวิทยาการอีกสาขาหนึ่งที่กำลังเป็นสนามให้นักวิทยาศาสตร์ค้นหาความลึกลับและที่มาของภาพวาดต่างๆ  ตามปรกติเวลาใครดูภาพดอกทานตะวันของ Van Gogh หรือภาพสระบัวของ Monet มีคนน้อยคนที่มองภาพดังกล่าวในสายตาของนักวิทยาศาสตร์  เพราะทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่า เวลาจิตรกรจะวาดภาพตามปรกติ เขาจะไม่ปรึกษาหรือขอความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ว่าควรจะใช้สีอะไร  หรือวางวัตถุ เช่น แก้วน้ำ ที่ไหนหรืออย่างไรเพื่อให้ภาพที่วาดประทับใจและตรึงใจคนดู  แต่ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ซึ่งเป็นยุคที่ศิลปะการวาดภาพเจริญรุ่งเรืองสุดๆ จิตรกรมักปรึกษานักวิทยาศาสตร์ และใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ด้านสรีรวิทยาหรือคณิตศาสตร์ในการวาดภาพมาก  เพื่อให้ภาพดูดีสมจริงและสวย  ประวัติโลกได้จารึกว่าเมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ คือเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีก่อน มนุษย์ได้มีการปฏิวัติปฏิรูปอารยธรรมและสติปัญญาอย่างใหญ่หลวง คือ โลกมีเหตุการณ์วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ศิลปะยุคใหม่ และดนตรียุคใหม่ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เมื่อภาพ Les Demoisselles d’ Avignon ของ Picasso ปรากฏที่ Paris เพลงที่ Schonberg แต่ง  เล่นที่ Vienna และทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ Einstein ก็ปรากฏที่ Bern ในสวิตเซอร์แลนด์ เหตุการณ์เหล่านี้ได้ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนมีความคิดว่า มันเป็นจังหวะการอุบัติที่พร้อมกันจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้

          ในหนังสือเรื่อง Einstein Picasso Spaco Time and the Beauty That Causes Havoc นักวิทยาศาสตร์ชื่อ A.I. Milles ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้คนทั่วไปมักคิดว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ Einstein ที่ระบุว่าธรรมชาติมี ๔ มิติ คือ มิติของความกว้างยาวและหนา  กับ ๑ มิติของเวลา  มีอิทธิพลต่อการวาดภาพ Cubism ของ Picasso มาก

          เพราะในภาพ Les Demoisselles d’ Avignon ที่ Picassco วาดเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๐ และขณะนี้ประดิษฐานอยู่ที่ Museum of Modern Art ที่นคร New York นั้น จิตรกรร่วมสมัยทุกคนยอมรับว่า มันเป็นภาพที่ได้บุกเบิกยุคของศิลปะสมัยใหม่อย่างแท้จริง ในภาพนั้น Picasso ได้แสดงให้เห็นหญิงโสเภณี ๕ คนในซ่อง ซึ่งถึงแม้จะยืนใกล้กัน แต่ก็ไม่มีความผูกพันหรือสัมพันธ์กันเลย ดวงตาของนางแต่ละคนต่างจ้องจับที่คนดู (ลูกค้าที่จะใช้บริการ) นางคนซ้ายสุดเกือบไม่ได้สวมเสื้อผ้าเลย และกำลังยกมือแหวกม่านและนางมีใบหน้าเหมือนชาวอียิปต์ ส่วนโสเภณีคนที่ ๒ และ ๓ นั้น มีใบหน้าแบบชาวสเปน  และโสเภณีคนที่ ๔ กำลังยกมือแหวกม่านเหมือนคนแรก แต่คนที่นั่งมีความผิดปรกติ คือนั่งหันหลังให้คนดู ส่วนใบหน้าได้หันกลับ ๑๘๐ องศา เสมือนถูกบิดไปครึ่งรอบ

          ภาพของ Picasso ภาพนี้แสดงการมองสถานการณ์ใน ๔ มิติ ถือเป็นภาพของเหล่าโสเภณีที่เห็นจากตำแหน่งยืนหลายๆ แห่งในเวลาเดียวกัน แทนที่จะเขียนแบบมองจากมุมเดียวหรือตำแหน่งเดียว ดังภาพที่จิตรกรต่างๆ เคยวาดในอดีต

          ส่วน Einstein เองก็ไม่เคยซาบซึ้งในเรื่องที่เป็น ๔ มิติ จนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือทางคณิตศาสตร์จาก Herman Minkowski และ Marcel Grossmann Einstein จึงได้ตระหนักในสัจธรรมว่า สิ่งที่เห็นๆ ไม่ใช่ความจริง การนึกคิดจะทำให้รู้จริง

          แต่จากการศึกษาประวัติของ Einstein และ Picasso อย่างถี่ถ้วน Milles ไม่ได้พบว่าในช่วงปี ๒๔๕๘ ที่ Einstein พบทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ และปี ๒๔๖๐ ที่ Picasso วาด Les Demoisselles d’ Avignon คนทั้งสองไม่เคยพบปะหรือพูดคุยเรื่อง ๔ มิติกับใคร ดังนั้น Milles จึงคิดว่าหนังสือชื่อ Science and Hypothesis ที่ Henri Poincare นักคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสแต่ง ได้มีอิทธิพลต่อการจุดพลุทางความคิดของอัจฉริยบุคคลทั้ง ๒ นี้

          ทั้งนี้เพราะ Picasso เองก็เคยเล่าว่าเขาได้เพื่อนนักบัญชีชื่อ Maurice Princet มาอธิบายเรขาคณิตใน ๔ มิติของ Poincare ให้ตนรู้เรื่อง  และ Einstein เอง ซึ่งคุ้นเคยกับงานของ Poincare ยิ่งกว่า Picasso มาก ก็พบว่าเรขาคณิต ๔ มิติของ Poincare เป็นเทคนิคที่จำเป็นในการอธิบายธรรมชาติ ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าจุดประสงค์ของวิทยาศาสตร์ มิได้อยู่ที่การอธิบายสิ่งที่เห็น

          ด้วยเหตุผลที่น้อยที่สุด และจุดประสงค์ของศิลปะก็มิใช่แสดงสิ่งที่เห็นให้ถูกต้องที่สุดเช่นกัน  จุดประสงค์ของศิลปะและวิทยาศาสตร์คือ ค้นหาความจริงที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เห็นมากกว่า

          ทุกวันนี้ เราได้ประจักษ์แล้วว่าการค้นหาความจริงเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนต้องการ และต้องทำแม้แต่ Isaac Newton เองก็เคยศึกษาวิทยาการเล่นแร่แปรธาตุของกรีกโบราณ เพื่อให้เข้าใจหลักการและทฤษฎีของศาสตร์ลึกลับนี้ หรือ Immanuel Velikovsky ก็มีชื่อเสียง (ด้านลบ) เพราะพยายามอธิบายเหตุการณ์ Moses แหวกน้ำทะเลในคัมภีร์ไบเบิล โดยใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาบัดนี้ David Hockney ก็กำลังมีชื่อเสียง (หรือเสีย) อีกเพราะได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ Secret Knowledge : Rediscovering the Lost Techniques of the Old Masters ในหนังสือเล่มนั้น

          Hockney ได้เสนอความเห็นและหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การที่จิตรกรคลาสสิก เช่น Caravaggio Holbein Raphael หรือ Van Dyck สามารถวาดภาพได้เหมือนภาพที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูป (ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นกล้องถ่ายรูปและกล้องโทรทรรศน์ยังไม่เกิด) ก็เพราะจิตรกรเหล่านั้นแอบใช้ทัศนูอุปกรณ์ เช่น กระจกเว้า เพื่อขยายรายละเอียดของใบหน้านายแบบหรือนางแบบที่ถูกวาด จนดูสมจริงเหมือนนั่งให้วาดอยู่ใกล้ๆ ทั้งๆ ที่เมื่อดูขนาดของภาพแล้ว จิตรกรจะยืนอยู่ไกลจนสายตาคนธรรมดาไม่สามารถเห็นรายละเอียดเหล่านั้นได้เลย

          จะอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรคิดว่าภาพที่วาดด้วยอุปกรณ์ช่วยเช่นนี้จะด้อยคุณค่า เพราะคนธรรมดาถึงแม้จะเอาอุปกรณ์มาช่วยทั้งโลกก็ไม่สามารถวาดภาพ masterpiece เช่น Husband and Wife ที่ Lorenzo Lotto จิตรกรชาวอิตาเลียนได้วาดไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๖ ได้

          และเมื่อวันที่ ๕-๗ ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ ได้มีการประชุมเรื่อง The Art of Seeing and the Seeing of Art ที่จัดโดย Centre for Visual Sciences ของ Australian National University ที่กรุง Camberra จิตรกรชาวออสเตรเลียนชื่อ Alan Lee ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์ทดสอบความคิดเรื่อง ความสวยงามในศิลปะของ Mondrian

          Piet Mondrian เป็นจิตรกรชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้มีชื่อเสียงในการวาดภาพที่ประกอบด้วยเส้นตรงสีดำวางเรียงตัดกันเป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบเรียบง่าย และใช้สีปฐมภูมิเช่น สีแดง เหลือง หรือน้ำเงินระบายในช่องสี่เหลี่ยมบางช่อง ภาพของ Mondrian มีเพียง ๒ มิติ ไม่มีความโค้ง เว้าและไม่เอียง เส้นตรงทุกเส้นอยู่ในแนวนอนหรือดิ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ภาพยังไม่แสดงลายเส้นพู่กันที่แสดงฝีมือคนวาดเลย ภาพของ Mondrian หลายภาพจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ส่วนที่แตกต่างกันคือตำแหน่งเส้นตรงต่างๆ เท่านั้น ซึ่ง Mondrian อ้างว่า เขาใช้เวลานานเป็นอาทิตย์ จึงจะตัดสินใจได้ว่าจะลากเส้นแต่ละเส้นที่ตำแหน่งใดเพื่อให้ภาพดูสวยที่สุด

          ในการทดสอบคำพูดของ Mondrian จิตรกร Lee ได้ออกแบบภาพ ๘ ภาพที่มีลักษณะเดียวกับภาพที่คล้ายๆ กัน ๔ ภาพของ Mondrian แต่ในการสร้างภาพทั้ง ๘ นั้น เขาไม่ได้คำนึงถึงตำแหน่งของเส้นตรงทั้งหลายเลย จากนั้นเขาได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ๑๐ คน และคนธรรมดา ๑๐๐ คน ดูภาพทั้ง ๑๒ ภาพ พร้อมกันนั้น  ก็ได้ขอให้เลือกภาพที่คิดว่า Mondrian วาดออกมา ๔ ภาพ (ซึ่ง Mondrian คิดว่าภาพของเขาสวยกว่าภาพที่วาดโดยไม่คิด)

          ผลปรากฏว่ากลุ่มทดลองทั้ง ๑๑๐ คน ไม่ว่าจะดูยังไงก็แยกภาพที่ Mondrian เขียนอย่างตั้งใจ จากภาพที่วาดแบบไม่ตั้งใจไม่ได้ เพราะดูเหมือนๆ กันไปหมด

          งานวิจัยนี้จึงเป็นตัวอย่างอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์กำลังแสวงหาความหมายของงานศิลปะครับ

ผู้เขียน : ศ. ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์