ว่าด้วยหลักเมือง

ประเพณีไทยแต่โบราณมา  เมื่อจะมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้น  ณ ที่ใดก็ตาม สิ่งที่จะต้องทำเป็นประการแรกก็คือ  หาฤกษ์ยามอันดีสำหรับฝังเสาหลักเมือง  หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการสร้างบ้านสร้างเมืองกันต่อไป  ดังที่ในหนังสือรู้ รักภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หลักเมืองถือเป็นส่วนสำคัญของเมือง โดยตั้งเสาเป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงว่าจะสร้างเมืองที่ตรงนั้นอย่างแน่นอน เช่น  หลักเมืองกรุงเทพมหานครอยู่ข้างกระทรวงกลาโหม เยื้องกับพระ
บรมมหาราชวัง

เสาหลักเมือง หมายถึง เสาที่สร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของเมือง มักทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์  เสาหลักเมืองถือเป็นใจของเมือง เป็นที่สถิตของเทพยดาผู้ปกปักพิทักษ์บ้านเมือง มีธรรมเนียมว่าก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่ที่เป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น

เมื่อแรกสร้างกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงทำพิธีตั้งเสาหลักเมืองขึ้นก่อน  ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ว่า  “…จึ่งดำรัสสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่  ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก  ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง  เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือนหกขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เพลาย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที…”

ส่วนคำว่า ศาลหลักเมือง หมายถึง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองและเป็นที่สถิตของเทพยดาผู้พิทักษ์เมืองซึ่งเรียกว่าพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง  ที่ปลายเสาหลักเมืองจะบรรจุดวงชะตาเมืองและเทวรูปที่เรียกกันว่า เจ้าพ่อหลักเมือง และมีพิธีประกาศอัญเชิญเทพเจ้าเข้าประดิษฐานในเทวรูปด้วย เพื่อให้ช่วยคุ้มครองป้องกันสรรพไพรีไม่ให้มาย่ำยีพระนครและพระราชอาณาจักร  ส่วนด้านทิศเหนือของศาลก็เป็นที่ประดิษฐานเทพารักษ์ทั้งห้า คือ เจ้าพ่อหอกลอง  เจ้าพ่อเจตคุปต์  พระเสื้อเมือง  พระทรงเมือง  และพระกาฬไชยศรี  ศาลหลักเมืองจึงเป็นสถานที่สิงสถิตของเทพเจ้าผู้มีมเหศักดิ์ คอยดูแลปกป้อง คุ้มครองบ้านเมืองและประชาชน.

                                             นางกนกวรรณ  ทองตะโก