ว่าด้วย ยา สำหรับภิกษุ (๑)

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๓ ให้บทนิยามคำ เภสัช ไว้ว่าหมายถึง ยาแก้โรค  ทราบไหมว่าพระพุทธศานามักใช้คำนี้คู่กับคำ คิลาน (แปลว่า เจ็บไข้ คนไข้) เป็น คิลานเภสัช แปลว่า ยาแก้โรคของภิกษุไข้ และยาที่ใช้รักษาโรคของภิกษุตามที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ได้แก่อะไรบ้าง  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๒ เล่าไว้ว่า

          พระพุทธเจ้าทรงวางระเบียบให้ภิกษุจัดหาและฉันยาตามชนิดของโรค  พระองค์ทรงเห็นว่าสิ่งที่จะเป็นเภสัชได้ สิ่งนั้นต้องเป็นเภสัชอยู่ในตัวและเขาสมมุติกันว่าเป็นเภสัชด้วย อีกทั้งจะต้องสำเร็จประโยชน์สามารถเป็นอาหารแก่สัตว์โลกและเป็นอาหารประเภทไม่หยาบ  ซึ่งเภสัชชุดแรกที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับประเคนไว้ฉันได้ในกาล  คือ เภสัช ๕ ดังนี้

          ๑. เนยใส ได้แก่ เนยแข็งที่ทำให้แตกมัน หรือน้ำมันที่เคี่ยวมาจากเนย และไขมันที่สกัดจากน้ำมันสัตว์ ทั้งที่มีลักษณะเหลวและแข็ง

          ๒. เนยข้น ได้แก่เนยที่ทำให้แปรรูปจากนมโค นมแพะ นมแกะ (ที่รีดมาสด ๆ ) เป็นไขมันข้น

          ๓. น้ำมัน ได้แก่น้ำมันชนิดต่าง ๆ ที่สกัดมาจากเมล็ดพืช หรือเปลวมันสัตว์ เช่น น้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา น้ำมันหมู

          ๔. น้ำผึ้ง ได้แก่ น้ำหวานที่ตัวผึ้งเก็บจากเกสรดอกไม้เอาไปทำรวงผึ้ง

          ๕. น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำหวานที่ได้จากต้นอ้อย รวมทั้งที่ได้จากต้นตาลและต้นมะพร้าว

          โดยทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันยาได้ตามเวลาที่ทรงกำหนดตามชนิดของยาทั้งในเวลาปรกติและเวลาวิกาล ทั้งนี้ เพื่อให้สมควรแก่สมณบริโภคและเก็บไว้ได้มีกำหนด ๗ วัน เพื่อให้ได้ฉันยาที่ยังคงเป็นยาอยู่.

       กนกวรรณ  ทองตะโก