ว่าด้วย ยา สำหรับภิกษุ (๒)

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๒ เล่าไว้ว่า  นอกจากเภสัช ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย ซึ่งเป็นยาชุดแรกที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุจัดหาและฉันได้แล้วนั้น  ยังมียาชนิดอื่น ๆ อีกมากที่พระองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธใช้ได้ตามความจำเป็น

          มหาวิกัฏเภสัช ๔ ได้แก่ มูตร คูถ เถ้า และดิน ทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันเพื่อแก้พิษงูขบกัด มูลเภสัช คือรากหรือหัวพืชที่เป็นยาแก้โรค เช่น ขมิ้น ขิง ข่า ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิษ แฝก และแห้วหมู นำมาต้มหรือตากแห้ง บดด้วยลูกหินบดทำเป็นลูกกลอน  กสาวเภสัช คือ น้ำฝาดเป็นกระสายยา เช่น น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดกระดอม น้ำฝาดบอระเพ็ด ปัณณเภสัช คือ ใบม้ที่เป็นยา  เช่น ใบสะเดา ใบโมกมัน ใบกะเพรา ใบแมงลัก  ผลเภสัช คือ ผลไม้ที่เป็นยา เช่น ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ชตุเภสัช คือยางไม้ที่เป็นยา เช่น ยางที่ไหลจากต้นมหาหิงคุ์ กำยาน ยางที่เคี่ยวจากก้านและใบต้นมหาหิงคุ์  โลณเภสัช คือเกลือที่เป็นยา เช่น เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง จุณเภสัช คือยาผง ทำมาจากมูลโค ดินเหนียว และกากน้ำย้อม (ที่แห้งเป็นก้อน) มีสรรพคุณแก้โรคฝีหัวหนอง พุพอง สิว อีสุกอีใส กลิ่นตัวแรง จักษุเภสัช คือยารักษาโรคทางตาทุกชนิด ได้แก่ ไม้จันทน์ กฤษณา กระลำพัก แห้วหมู อย่างใดอย่างหนึ่งบดละเอียดผสมน้ำใส่ตลับที่ไม่ได้ทำด้วยเงินหรือทอง  ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นของที่ภิกษุรับประเคนแล้วให้เก็บไว้ฉันเป็นยาแก้โรคได้เสมอไป ไม่จำกัดเวลา

          นอกจากนี้ยังทรงอนุญาตให้ใช้พอกหัวฝีด้วยงาที่บดแล้ว ถ้าไม่หาย ทรงอนุญาตให้ใช้ก้อนเกลือกัดหัวฝี  ให้ใช้รากหรือเหง้าบัวหลวงสดเป็นยาแก้ตัวร้อน  ให้ใช้เครื่องยาหอมบางชนิดทาตัวได้ในระหว่างเป็นโรคผิวหนัง  ให้ปรุงน้ำมันทาเท้าเมื่อเท้าแตก เป็นต้น

          บรรดายารักษาโรคทั้งหลายนี้ พระพุทธเจ้าทรงย้ำความสำคัญของ เภสัช ๕ ว่าเป็นเภสัชหลักที่มีคุณค่ายิ่งกว่าเภสัชขนานอื่น ซึ่งหมอชีวกโกมารภัจก็รับรองความสำคัญและประโยชน์ไว้เช่นเดียวกัน.

       กนกวรรณ  ทองตะโก