ว่าด้วย…รองเท้าหุ้มส้น

          ช่วงนี้มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏหลายแห่ง  ที่หลายต่อหลายคนรอคอยวันแห่งความสำเร็จนี้ด้วยความปลื้มปีติ  แต่ในบรรยากาศแห่งความปลื้มปีติ ความสุข และความยินดีนี้ มีบางคนโดยเฉพาะสาว ๆ ต้องทนทรมานแทบทั้งวัน ด้วยความไม่คุ้นกับการใส่รองเท้าตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบ ซึ่งรองเท้าแบบนี้โดยมากเรียกกันจนติดปากว่า คัด-ชู   พูดถึงคำนี้คงพอจะนึกภาพออกว่าหมายถึง รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มหมด ไม่มีสายรัด  คำนี้ใช้กันมานาน แต่ถึงขณะนี้ผู้เขียนยังหาหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาอ้างอิงไม่ได้ว่าทับศัพท์มาจากคำว่าอะไร  พยายามค้นจากหนังสือก็ยังไม่พบที่มา ลองถามผู้รู้บางท่านก็ว่า น่าจะมาจาก cut shoe เพราะแต่เดิมคนไทยไม่เคยใส่รองเท้า เมื่อได้ติดต่อกับชาวต่างชาติและรับวัฒนธรรมบางอย่างเช่นการแต่งกายอย่างสากล ก็ต้องสั่งตัดรองเท้าลักษณะนี้มาใส่ ฟังดูก็เป็นเหตุผลที่ดีประการหนึ่ง แต่ก็มีที่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า casual หรือ  casual shoes ที่หมายถึงรองเท้าสวมสบาย ๆ แบบลำลอง  ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งมาจากการเทียบกับคำในพจนานุกรมภาษาต่างประเทศ (dictionary) เมื่อพิจารณาจากคำอธิบายศัพท์และภาพประกอบแล้วน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า court shoe แต่พยางค์แรกออกเสียงว่า ขอด จึงเป็น ขอด-ชู  ฟังแล้วรู้สึกว่าไม่ใกล้เคียงเท่าไร แต่ภาพประกอบนั้นเหมือนกับที่บ้านเราใช้ คือเป็นรองเท้ามีส้นและหุ้มหมด ไม่มีส่วนใดเปิด ไม่มีสายรัด  ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าคนไทยสมัยก่อนยังไม่คุ้นกับการออกเสียงของฝรั่ง อีกทั้งอาจไม่ได้เห็นรูปเขียนของศัพท์คำนี้ จึงเขียนให้ใกล้เคียงกับที่ได้ยินหรือให้สะดวกในการออกเสียง  อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อมูลที่พอจะสันนิษฐานได้เท่านั้น

ทิพาภรณ์  ธารีเกษ