ว่าว

          เมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านมาในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ก็เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเทศกาลเล่นว่าวมาถึงแล้ว คำว่าว่าวยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าไทยนำมาจากภาษาใด แต่หนังสืออภิธานศัพท์คำไทยที่มีต้นเค้ามาจากภาษาต่างประเทศระบุว่า มีคำภาษาอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกับว่าว และมีสำเนียงการออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ว่าว” ได้แก่คำภาษามลายูว่า “wau” นอกจากนี้ยังมีคำภาษามอญที่แปลว่าว่าว ซึ่งออกเสียงว่า “เวี่ย” แต่พิจารณาดูแล้วคำว่า “wau” (เวา) จะมีเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ว่าว” มากกว่าคำว่า “เวี่ย”  หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม ๖ กล่าวว่า  ว่าวไทยที่นิยมทำและเล่นกันทั่วไปมีอยู่ ๔ ชนิด  คือ อีลุ้ม เป็นว่าวรูปสี่เหลียมขนมเปียกปูน มีโครงไม้ไผ่สองอันที่อกและที่ปีก อกสั้นกว่าปีกเล็กน้อย กระดาษที่ใช้ปิดทาบบนโครง เป็นกระดาษว่าวซึ่งบางเป็นพิเศษ ปลายปีกทั้งสองติดพู่กระดาษ ช่วยให้ทรงตัวขณะที่ลอยเล่นลมในอากาศ   ปักเป้า รูปร่างคล้ายว่าวอีลุ้ม  แต่โครงไม้ส่วนที่เป็นปีกจะแข็งกว่าปีกของอีลุ้มมาก จึงต้องมีหางทำด้วยผ้าถ่วงอยู่ที่ส่วนก้น  จุฬา  เป็นว่าวที่มี ๕ แฉก ประกอบเป็นโครงขึ้นด้วยไม้ ๕ อัน ซึ่งนิยมใช้ไม้ไผ่สีสุกที่มีปล้องยาวมาเหลาปลายเรียวหัวท้าย อันกลางเรียก “อก” อีก ๒ อันผูกขนาบตัว ให้ปลายทั้งสองข้างจรดกันเป็นปีก และอีก ๒ อันที่เหลือผูกเป็นขาว่าว เรียกว่า  “ขากบ” แล้วขึงด้ายเป็นตารางตลอดตัวว่าว ใช้กระดาษสาปิดทับลงบนโครง  ถ้าทำไม่ถูกสัดส่วน ว่าวจะไม่ลอย ตุ๋ยตุ่ย หรือ ดุ๋ยดุ่ย คล้ายว่าวจุฬา แต่มีขากบเป็นรูปเดียวกับปีก ติดซ้อนกันอยู่ ส่วนบนใหญ่และส่วนล่างเล็ก ใต้ส่วนล่างมีไม้ขวางอีกอันสำหรับผูกหาง ๒ หาง ที่ส่วนบนมีเดือยสำรับไว้เสียบ “ตัวทำเสียง” คล้ายคันธนู ทำด้วยไม้ไผ่ หรือหวาย เหลาให้เป็นแผ่นบาง แล้วใช้ปลายเชือกทั้ง ๒ ข้างผูกติดกับปลายคัน เมื่อว่าวลอยในอากาศจะเกิดเสียงดัง ตุ๋ยตุ่ยหรือดุ๋ยดุ่ยตลอดเวลา  หน้าร้อนปีนี้ถ้าไม่รู้จะไปเที่ยวไหน ลองแวะไปเที่ยวงานเทศกาลว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ชะอำและสนามหลวงกันดีไหม คุณอาจหลงใหลในเสน่ห์ของว่าวหลากสีสันก็เป็นได้

อารี  พลดี