ศรัทธา

          ศรัทธา ตามความหมายที่ใช้ในพจนานุกรม หมายถึง “ความเชื่อถือ ความเลื่อมใส” คำ ศรัทธา นี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติมาจากคำ faith และอธิบายว่า หมายถึง ความเชื่อ ความเลื่อมใส โดยทั่ว ๆ ไปแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ

          ๑. ศรัทธาโดยไม่ต้องใช้ปัญญาแสวงหาความจริง
          ๒. ศรัทธาโดยใช้ปัญญาแสวงหาความจริงไปพร้อม ๆ กัน
          ๓. ศรัทธาต่อเมื่อมีประสบการณ์ด้วยตนเองจริง ๆ แล้ว”

          นอกจากนี้ แต่ละศาสนาก็ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับศรัทธาไว้ต่าง ๆ กันดังนี้

          ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู “ศรัทธา” หมายถึงความเชื่อในหลักธรรมสำคัญ ดังต่อไปนี้

          ๑. เชื่อว่า พรหมัน (พระพรหม) เป็นสัจธรรมสูงสุด ไม่มีรูป แต่เมื่อจะสร้างโลกก็สำแดงองค์เป็น ๓ รูป ที่เรียกว่า ตรีมูรติ คือ พรหมา (พรหม) ผู้สร้าง วิษณุ (นารายณ์) ผู้รักษา และศิวะ (อิศวร) ผู้ทำลาย

          ๒. เชื่อว่า มีกฎธรรมชาติ เรียกว่า ฤตะ (Rฺta) ทำหน้าที่ควบคุมความเป็นระเบียบของโลก ทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ มีขึ้นและเสื่อมสลายไปอย่างมีระเบียบ ทำให้มนุษย์ สัตว์ และพืชอุบัติขึ้น และดับไปในลักษณะเป็นระเบียบ มีเหตุผล และรักษาดุลยภาพของโลกไว้ แต่กฎนี้เป็นเพียงกฎธรรมชาติ ไม่มีพุทธิปัญญา จึงต้องมีเทพสูงสุดเป็นผู้บันดาลและควบคุมอยู่

          ๓. เชื่อว่า คัมภีร์พระเวท เป็นแหล่งความรู้ที่ถูกต้องเที่ยงแท้แน่นอน ไม่แปรผันเป็นอื่นไม่ว่าในกาละและเทศะใด ๆ เพราะพระเวทคือสัจธรรมที่เปิดเผยตัวเองให้ปรากฏแก่ฤๅษีผู้มีฌาน และท่านก็นำออกเปิดเผยแก่ผู้อื่นตามที่ได้เห็นได้รู้ โดยไม่ได้ตกแต่งต่อเติมใด ๆ ทั้งสิ้น คัมภีร์พระเวทจึงเป็นศรุติ คือที่พระฤๅษีได้สดับมาเองด้วยสยัมภูปัญญา (ปัญญาที่รู้แจ้ง) และเป็นอเปารุเษยะ คือไม่ใช่ผลงานของมนุษย์และของเทพ และเชื่อว่าเป็นอมตธรรม นิตยธรรม และเป็นปราณหรือลมหายใจของพระเป็นเจ้า อยู่เหนือปัญญาขั้นเหตุผลของมนุษย์

          ในศาสนาเชน “ศรัทธา” หมายถึงความเชื่อในหลักธรรมสำคัญ ดังต่อไปนี้

          ๑. เชื่อว่า ความเจริญและความเสื่อมของชีวิตเป็นไปตามผลแห่งกรรมของตนเอง ไม่มีเทพองค์ใดบันดาลให้เป็นไปได้ตามที่เราต้องการ

          ๒. เชื่อว่า ชีวะ (วิญญาณ) มีอยู่ทั้งในสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ชีวะที่หลุดพ้นจากกฎแห่งกรรมแล้ว มุกตชีวะ เป็นชีวะที่สมบูรณ์ คือ มีอนันตศักดิ์ อนันตญาณ และอนันตสุข

          ๓. เชื่อว่า พระมหาวีระเป็นศาสดาองค์ที่ ๒๔ และเป็นองค์สุดท้าย ศาสดาทุกองค์เชื่อว่าเป็นพระชินะผู้เข้าถึงมุกตชีวะแล้ว

          ในศาสนาสิกข์ “ศรัทธา” หมายถึงความเชื่อและความจงรักภักดีในพระเป็นเจ้าองค์เดียว มีพระนามว่า สัจจะ ผู้แท้จริง ผู้ทรงสร้าง ทรงปราศจากความกลัวและความคุมแค้น มีลักษณะเป็นอมฤตภาพ มีขึ้นเป็นขึ้นด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นเบื้องต้น พระสัจจะนั้น กำลังเป็นอยู่ เป็นมาแล้ว และจะเป็นต่อไป และเชื่อว่า มนุษย์ทั้งผองเป็นพี่น้องกัน

          ในพระพุทธศาสนาแบ่งศรัทธาออกเป็น ๔ อย่าง คือ

          ๑. กัมมสัทธา เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วเป็นเหตุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป

           ๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วจะต้องมีผลติดตามมา

          ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน คือ เชื่อว่าแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบเสวยผลของกรรมนั้น

          ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามั่นใจในองค์พระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ คือทรงเป็นผู้ตรัสรู้สัจธรรมด้วยพระองค์เองโดยชอบ

          ในศาสนาคริสต์ฝ่ายคาทอลิก “ศรัทธา” หมายถึงความเชื่อในหลักสำคัญ ดังต่อไปนี้

          ๑. เชื่อในตรีเอกภาพ
          ๒. เชื่อว่าพระเยซูคือพระบุตรมาเกิดเป็นมนุษย์
          ๓. เชื่อว่ามีนรกและสวรรค์นิรันดร
          ๔. เชื่อว่าสันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุดสืบเนื่องจากตำแหน่งของนักบุญเปโตร

          ในศาสนาคริสต์ฝ่ายโปรเตสแตนต์ “ศรัทธา” หมายถึงรากฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของมนุษย์ที่ต้องมีต่อพระเจ้า เพราะเป็นการตอบสนองต่อความรักของพระเจ้าโดยการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ คำนี้มีความหมายกว้างมาก ครอบคลุมความหมายของความเชื่อ ความไว้วางใจอย่างไม่มีข้อกังขาใด ๆ ความแน่ใจในความหวังในสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น ความเชื่อฟังโดยปราศจากข้อแม้ใด ๆ รวมทั้งความสัตย์ซื่อ ความมั่นคง ความแน่วแน่ ความยึดมั่น ความจงรักภักดี และการถวายตัวต่อพระเจ้า

          ในศาสนาอิสลาม ใช้คำ “อีมาน” (Imān) หมายถึง ศรัทธา คือ การปักใจเชื่อในคำสอนของอัลลอฮ์ โดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย ศรัทธานี้ประกอบด้วยความรู้ การแสดงออกทางวาจาและการกระทำตามบัญญัติศาสนา

          หลักความเชื่อพื้นฐานของอิสลาม ได้แก่

          ๑. เชื่อว่าอัลลอฮ์เป็นพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง ทรงมีอำนาจสูงสุดแต่เพียงองค์เดียว ไม่มีสิ่งอื่นใดเป็นพระเจ้านอกจากพระองค์

          ๒. เชื่อว่ามีมะลาอิกะฮ์ (Angels) ซึ่งอัลลอฮ์ทรงให้มีมาเพื่อทำหน้าที่ในการดำรงอยู่ของสิ่งทั้งหลาย ตามพระบัญชาของพระองค์ มะลาอิกะฮ์ มีสภาพความเป็นอยู่นอกประสบการณ์ธรรมดาของมนุษย์

          ๓. เชื่อว่าอัลลอฮ์ทรงให้มีศาสดา เพื่อมาสั่งสอนมนุษยชาติตลอดมาเริ่มตั้งแต่ศาสดาอาดัมจนถึงศาสดามุฮัมมัด ซึ่งเป็นศาสดาสุดท้าย ศาสดานั้นมีจำนวนมากมาย แต่ที่มีนามบ่งชัดในคัมภีร์อัล-กุรอาน เฉพาะศาสดาที่สำคัญ ๆ เพียง ๒๙ ท่าน เช่น ศาสดาอาดัม (Adam) ศาสดานูห์ หรือ โนอาห์ (Noah) ศาสดาอิบรอฮีม หรือ อับรา-ฮาม (Abraham) ศาสดามูซา หรือ โมเสส (Moses) ศาสดาอีซา หรือ พระเยซู (Jesus) ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad)

          ๔. เชื่อว่าอัลลอฮ์ได้ประทานคัมภีร์แก่ศาสดาหลายท่าน เช่น คัมภีร์เตาร็อต (Tora) แก่ศาสดามูซา คัมภีร์ซะบูร (Psalms of David) แก่ศาสดาดาวูด หรือ เดวิด คัมภีร์อินญีล (Gospel) แก่ศาสดาอีซา หรือ พระเยซู คัมภีร์อัล-กุรอาน (al Qur’ān) แก่ศาสดามุฮัมมัด

          ๕. เชื่อว่าโลกนี้ไม่จีรัง เป็นเพียงสถานที่ประกอบคุณความดีเพื่อชีวิตในปรโลก (ĀKhirah) ซึ่งเป็นโลกที่ถาวร เมื่อโลกนี้ดับสลายแล้ว มนุษย์ทุกคนจะมีชีวิตขึ้นมาใหม่เพื่อรับการพิพากษาและได้รับการตอบแทนผลแห่งการกระทำของตนอย่างเป็นธรรม หากเป็นความดีก็จะได้รับการตอบแทนเป็นสวรรค์ หากเป็นความชั่วก็จะได้รับการตอบแทนเป็นนรก และมนุษย์จะอยู่ในปรโลกนี้ตลอดไป ขณะที่โลกนี้ยังไม่ดับสลาย วิญญาณของมนุษย์ที่ตายไปจะดำรงอยู่ในบัรซัค (Barzakh) คือโลกทางวิญญาณ เพื่อรอวันฟื้นคืนชีพในปรโลก

          ๖. เชื่อว่าอัลลอฮ์ทรงกำหนดและวางกฎเกณฑ์ให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่ตามพระประสงค์ของพระองค์.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖