ศังสกานท์
ศัพท์บัญญัติที่น่าสนใจ

          ศังสกานท์ เป็นศัพท์บัญญัติที่คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์วรรณกรรมบัญญัติขึ้น จากคำ ode ซึ่งหมายถึง บทร้อยกรองประเภทหนึ่ง ที่ประพันธ์ขึ้นเป็นอนุสรณ์ หรือเพื่อสรรเสริญ สดุดี บุคคล สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ ตลอดจนสิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่มีความยาวพอสมควร และมีลักษณะสำคัญคือ เป็นบทร้อยกรองที่มีรูปแบบประณีต ซับซ้อน ใช้ภาษาและถ้อยคำที่สูงส่ง สง่างาม มีท่วงทำนองการเขียนเป็นแบบพิธีการ แสดงอารมณ์และความคิดที่สูงส่ง

          บทร้อยกรองชนิดนี้ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ กวีที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มและมีอิทธิพลต่อกวีรุ่นหลัง ๆ คือ พินดาร์ (Pindar 522-442 B.C.) ซึ่งได้เขียนศังสกานท์เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ชนะการแข่งขันกีฬาของกรีก โดยนำเอารูปแบบและจังหวะลีลาของบทร้องของลูกคู่ในละครกรีกมาใช้ในการแต่ง เพราะศังสกานท์ในสมัยนั้นใช้ขับร้องและมีการเต้นรำประกอบด้วย (คำว่า ode ในภาษากรีก แปลว่า เพลง) ศังสกานท์แบบของพินดาร์จึงแบ่งออกเป็น ๓ ท่อน (strophe) เพื่อให้สอดคล้องกับการร้องและเต้นรำของลูกคู่ ท่อนแรก เรียกว่า strophe ร้องเมื่อเต้นไปทางซ้าย ท่อนที่สองเรียกว่า antistrophe ร้องเมื่อเต้นไปทางขวา และ epode ร้องเมื่อหยุดอยู่กับที่

           กวีสมัยต่อมาที่ควรกล่าวถึงคือ ฮอเรซ (Horace 65-8 B.C.) กวีโรมันซึ่งแต่งศังสกานท์โดยใช้เนื้อหาที่เป็นเรื่องส่วนตัว เฉพาะบุคคล และใช้รูปแบบบท (stanza) ซ้ำ ๆ กันไปไม่แบ่งเป็น ๓ ท่อนอย่างของพินดาร์ กับอีกผู้หนึ่ง คือ คาวลีย์ (Cowley 1618-1667) กวีอังกฤษ ซึ่งแต่งศังสกานท์โดยเลียนแบบพินดาร์ แต่ไม่สนใจเรื่อง strophe ทั้งสาม ให้ความยาวของแต่ละบาท (line) และจำนวนบาทในแต่ละบท ตลอดจนสัมผัส แตกต่างกันไป กล่าวได้ว่าศังสกานท์แบบนี้ให้อิสระแก่กวีในการแสดงออกมากกว่าแบบของพินดาร์และฮอเรซ

          ศังสกานท์ทั้งแบบของพินดาร์ ฮอเรซ และแบบอิสระอย่างของคาวลีย์ล้วนเป็นต้นแบบให้กวีอื่น ๆ ดำเนินตามสืบมา ตัวอย่างเช่น The Bard ของ เกรย์ (Gray 1761-1771) เป็นศังสกานท์แบบพินดาร์ Ode to Evening ของคอลลินส์ (Collins 1721-1759) เป็นแบบฮอเรซ และ Ode on Intimations of Immortality ของเวิดส์เวิร์ท เป็นศังสกานท์แบบอิสระอย่างคาวลีย์

          ศังสกานท์มีทั้งประเภทที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับโอกาสที่เป็นทางการ เช่น งานศพ งานวันเกิด หรืองานรัฐพิธี เช่น Ode on the Death of Duke of Wellington ของลอร์ดเทนนีสัน (Lord Tennyson 1809-1892) และประเภทที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดงอารมณ์หรือความคิดที่เป็นส่วนตัว เช่น Ode to Nightingale ของ คีตส์ (Keats 1795-1821)

          ตัวอย่างศังสกานท์ที่เป็นที่รู้จักกันดีและได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศบทหนึ่ง คือ Ode on Gracian Urn ของ คีตส์ กวีอังกฤษ ศังสกานท์บทนี้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงอธิบายและแปลเป็นภาษาไทยโดยประพันธ์เป็นโคลงสี่สุภาพ จึงขอนำมาลงไว้ในที่นี้เป็นบางส่วน ดังนี้

          “คีตส์รำพันถึงโกศสมัยกรีก ซึ่งใช้บรรจุอัฐิวางไว้บนที่ฝังศพ และได้ระบายภาพที่รำพึงถึงโกศนั้น โดยแสดงให้เห็นภาพธรรมชาติป่าดงที่แวดล้อมอยู่ในความสงัดเงียบและเยือกเย็น ทำให้นึกฝันถึงเรื่องราวและตำนานต่าง ๆ ทั้งทุกข์ทั้งสุข ทั้งโศกทั้งสำราญ ให้ความหวังแก่คู่รักซึ่งต้องพลัดพรากจากกันไปสู่ปรโลกแล้ว ความรักก็ไม่มีวันวายแต่ยังสดชื่นอยู่ด้วยเพลิงรักอันจะดับมิได้แล้วรำพึงถึงอนิจจังความไม่เที่ยง ซึ่งบ้านเมืองอันอยู่ในความสงบสุขก็อาจต้องภัยพิบัติเริดร้างไปได้ ในที่สุดได้ให้คติข้อคิดไว้ว่า ในโลกนี้ ความงามก็คือความจริงและความจริงก็คือความงาม”

          Thou still unravish’d bride of quietness?
                    Thou foster-child of Silence and slow Time.
          Sylvan historian who canst thus express
                    A flowery tale more sweetly than our rhyme:
          What leaf-fring’d legend haunts about thy shape
                    Of deities of mortals or of both
                    In Temple or the dales of Arcady?
          What men or gods are these? What maidens loath?
          What mad pursuit? What struggle to escape
                    What pipes and timbrels? What wild ecstasy?

         สูยังพิสุทธิ์แท้                   พธูสันต์
สูลูกเลี้ยงกาลมันท์                       เงียบถ้อย
             สูเรียงประวัติไพรวัน        เสนาะโสต นักนา
แสดงเรื่องประดับดอกสร้อย          แช่มช้อยกลอนไฉน
             ตำนานใดร้อยรอบด้วย     ขอบใบ
แฝงแนบแทบโฉมวิไล                  แห่งเจ้า
             รำพันเทพฤมนุษย์วิสัย      ฤครบ คู่นอ
เนาหุบเขาห้วยเฝ้า                        ค่ำเช้าชวนชม
             บรมเทพหรือมนุษย์นั้น      คือใคร
หรือแต่เพียงอรไท                         สะอิดเอื้อน
             หรือแสวงกิจวิกลใด          หลีกหลบ รบรา
 เป่าปี่ตีกลองสะเทื้อน                    ท่วงเทิ้มเคลิ้มหรรษา


          คำ ศังสกานท์ เป็นการบัญญัติศัพท์ด้วยวิธีสร้างคำขึ้นใหม่ โดยนำคำภาษาสันสกฤต “ศงฺส”  ซึ่งแปลว่า สรรเสริญ มารวมกับคำ “กานท์” ซึ่งแปลว่าบทกลอน ศังสกานท์ จึงมีความหมายว่า บทกลอนเพื่อสรรเสริญ อย่างไรก็ดี ศัพท์นี้คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์วรรณกรรมได้คิดขึ้นเพื่อเสนอให้ทดลองใช้กัน ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๒