ศาล

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยาม ศาล ว่า องค์กรที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร; ที่ชำระความ เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา; ที่สิงสถิตของเทวดา เทพารักษ์ หรือเจ้าผี เป็นต้น เช่น ศาลเทพารักษ์ ศาลเจ้า ศาลเจ้าแม่ทับทิม

          นอกเหนือจากระบบศาลยุติธรรม ๓ ขั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา แล้ว ยังมีศาลอื่น ๆ ที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยในช่วงนี้ ผู้เขียนขอคัดนิยามจากพจนานุกรมฯ มานำเสนอให้ผู้ที่สนใจอ่านกันค่ะ

          ศาลปกครอง ศาลที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ตามที่กฎหมายบัญญัติอันได้แก่ คดีพิพาทที่เกิดจากการกระทำทางปกครองไม่ว่าจะเป็นคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน

          ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น การพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอรรถคดีทั่วไป

          กรณีที่คนหรือกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจดำเนินคดีตามกฎหมายจับกุมคนมาชำระตัดสินความโดยพลการไม่อยู่ในระบบยุติธรรมทางกฎหมายใด ๆ แต่อาจจะพบเห็นได้ในชีวิตจริง เราเรียกกันว่า ศาลเตี้ย ค่ะ

รัตติกาล  ศรีอำไพ