ศาสตราจารย์เกียรติคุณ

          ผู้อ่านท่านหนึ่งถามเรื่องที่มาและความหมายของคำว่า ศาตราจารย์เกียรติคุณ และ ศาสตราจารย์คลินิก พร้อมทั้งขอให้ตอบในคอลัมน์นี้ด้วย พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำ ๒ คำนี้ไว้อย่างชัดเจน ขอเริ่มที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ซึ่งตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า professor emeritus หรือ emeritus professor นอกจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ แล้ว ศัพท์ภาษาอังกฤษ ๒ คำนี้ ยังใช้ว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ด้วย

          ศาสตราจารย์กิตติคุณและศาสตราจารย์เกียรติคุณ เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งจากอาจารย์ประจำผู้เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยซึ่งมีตวามรู้ความสามารถและความชำนาญเป็นพิเศษ และพ้นจากตำแหน่งไปโดยไม่มีความผิด สภามหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณหรือศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์นั้นมีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นเกียรติยศได้ ศาสตราจารย์ผู้นี้อาจสอนในมหาวิทยาลัยต่อไปก็ได้ ไมใช่ศาสตราจารย์ที่ต่ออายุราชการ บางมหาวิทยาลัยจะปรากฏชื่อศาสตราจารย์กิตติตุณหรือศาสตราจารย์เกียรติคุณแยกจากศาสตราจารย์ธรรมดาในคู่มือระดับบัณฑิตศึกษา

          การเรียกชื่อศาสตราจารย์กิตติคุณหรือศาสตราจารย์เกียรติคุณนั้นขึ้นอยู่กับพระราชบัญญัติของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ

          ตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณหรือศาสตราจารย์เกียรติคุณ ตามพระราชบัญญัติอุดมศึกษาหรือพระราชบัญญัติของแต่ละมหาวิทยาลัย ใช้อักษรย่อว่า “ศ.กิตติคุณ” หรือ “ศ. (เกียรติคุณ)” ส่วนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. ๒๕๓๖ ใช้อักษรย่อว่า “ศ.”

          ศาสตราจารย์กิตติคุณหรือศาสตราจารย์เกียรติคุณที่เป็นสตรีซึ่งมีใช้ในบางประเทศ แต่ในประเทศไทยไม่นิยมใช้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า professor emerita

แสงจันทร์ แสนสุภา