ศุภมัสดุ

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นอกจากจะมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจแล้ว  ยังมีการใช้คำขึ้นต้นว่า “ศุภมัสดุ” ซึ่งเป็นรูปแบบที่น่าสนใจอีกด้วย ศาสตราจารย์จำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต  ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนและความหมายของคำว่า “ศุภมัสดุ” สรุปความได้ดังนี้

          คำขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤตก่อนคำปรารภนั้น ถือเป็นรูปแบบเฉพาะที่มีปรากฏมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยจะขึ้นต้นด้วยคำ “ศุภมัสดุ” ซึ่งเป็นคำขึ้นต้นในประกาศที่เป็นแบบแผนหรือข้อความที่เป็นสำคัญ เช่น ประกาศพระบรมราชโองการ  มีความหมายว่า “ขอความดีความงามจงมี” ซึ่งเป็นการอัญเชิญความสิริมงคล  ส่วนข้อความต่อจากคำศุภมัสดุ เป็นรายละเอียดของพุทธศักราช วัน เดือน ปี ทางจันทรคติ และวัน เดือน ปี ทางสุริยคติ  ซึ่งเป็นวันที่ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ  จากนั้นจะลงท้ายด้วยคำว่า “โดยกาลบริเฉท” เสมอ ซึ่งมีความหมายว่า “เวลาที่กำหนด”

          ดังเช่นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐  ที่ใช้คำขึ้นต้นว่า “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๕๐ พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม สูกรสมพัตสร สาวนมาส ชุณหปักษ์ เอกาทสีดิถี สิงหาคมมาส จตุวีสติมสุรทิน ศุกรวาร โดยกาลบริเฉท”  แปลความได้ว่า  “ขออัญเชิญความสิริมงคล พระพุทธศาสนาได้ผ่านมาแล้ว ๒๕๕๐ กาลปัจจุบัน ตามทางจันทรคติ (ตรงกับ) ปีกุน เดือน ๙ ปักษ์ข้างขึ้น ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตามทางสุริยคติ (ตรงกับ) เดือนสิงหาคม วันที่ ๒๔ เป็นวันศุกร์ เป็นเวลาที่กำหนด”.

       กนกวรรณ  ทองตะโก