สบู่

          “สบู่” เป็นสารสำหรับใช้ทำความสะอาดที่รู้จักกันดีในชีวิตประจำวันจนบางครั้งเราอาจมองข้ามความสำคัญไป  หากแต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า “สบู่” มีประวัติที่น่าสนใจยิ่ง  จากหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ได้กล่าวถึงสบู่ไว้ว่า

          “สบู่” เป็นสารทำความสะอาดชนิดหนึ่ง  ปัจจุบันสบู่ธรรมดาที่ใช้กันตามบ้านใช้เป็นสารทำความสะอาดร่างกายผลิตจากไขสัตว์หรือน้ำมันพืชนำไปต้มกับด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือด่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ตามตำนานเล่าว่า สบู่ (soap) ได้ชื่อมาจากเมานต์ซาโป (Mount Sapo) ที่ภูเขานี้ชาวโรมันใช้บูชายัญด้วยสัตว์ น้ำฝนชะล้างไขมันสัตว์รวมทั้งเถ้าไม้ลงมาจากภูเขา  ไหลไปถึงดินริมฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ ผู้หญิงที่มาซักผ้าที่แม่น้ำสังเกตว่าการซักผ้าบริเวณดินแถบนั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น ทั้งนี้จากประวัติแล้วมีการค้นพบสารคล้ายสบู่ในคนโทดินเหนียวที่ได้จากการขุดค้นโบราณวัตถุที่เมืองบาบิโลน  สิ่งนี้เป็นประจักษ์พยานว่า คนรู้จักทำสบู่ตั้งแต่ ๒๖๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่วัตถุประสงค์แรกเริ่มของการผลิตสบู่ยังไม่บอกแน่ชัด  ต่อมาเมื่อราว ๑๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช “เอเบอร์สพาพิรัส” ซึ่งเป็นเอกสารทางการแพทย์ของอียิปต์กล่าวถึงการผสมไขมันสัตว์หรือน้ำมันพืชกับเกลือที่เป็นด่างเพื่อทำสารคล้ายสบู่ใช้แก้โรคผิวหนัง นอกจากนี้ มีหลักฐานการค้นพบโรงงานทำสบู่และแท่งสบู่หอมเมื่อมีการขุดซากเมืองปอมเปอีขึ้นมา  ทั้งนี้ ไม่ได้มีการพูดถึงสบู่ในเชิงเป็นสารทำความสะอาดจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒ กาเลน แพทย์ชาวกรีกแห่งเอเชียไมเนอร์แนะนำว่า สบู่ดีสำหรับทำความสะอาดร่างกายรวมทั้งกำจัดเชื้อโรค  การทำสบู่ในยุโรปเริ่มมีขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๗ กิจการสบู่รุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ  สบู่ได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมารวมทั้งการปรับส่วนผสมของสบู่ด้วย เช่น มีการนำโซเดียมคาร์บอเนตมาทำปฏิกิริยากับปูน  จะได้โซเดียมไฮดรอกไซด์เพื่อใช้ทำสบู่  ต่อมามีการทำสบู่อีกหลายประเภทเพื่อใช้ประโยชน์ในการซักผ้า  ล้างของใช้ ทำเครื่องสำอาง จนถึงทศวรรษที่ ๑๙๓๐ จึงได้มีสารซักฟอกสังเคราะห์ทำหน้าที่ทำความสะอาดแทบทั้งหมด  สารซักฟอกมีราคาถูกกว่าและผลิตง่ายกว่า ทุกวันนี้เราจึงนิยมใช้สบู่ใช้ในชีวิตประจำวันเพียงทำความสะอาดร่างกายเป็นส่วนใหญ่.

อิสริยา เลาหตีรานนท์