สมบัติ (property)

        เมื่อกล่าวถึงลักษณะประจำของสาร ก็จะใช้คำว่า สมบัติของสาร นั้น ซึ่งยังแบ่งประเภทออกไปได้อีกเป็น สมบัติทางฟิสิกส์ และ สมบัติทางเคมี

        สมบัติทางฟิสิกส์ บอกกล่าวถึงลักษณะเฉพาะทั่ว ๆ ไป ในเรื่องของสี กลิ่น ความแข็ง การละลาย การนำความร้อน การนำไฟฟ้าเป็นโลหะหรืออโลหะ เป็นของแข็ง หรือแก๊ส มีจุดเดือด จุดเยือกแข็ง หรือจุดหลอมเหลวเท่าใด เป็นต้น

        ส่วนสมบัติทางเคมีเป็นสมบัติที่แสดงว่าสารชนิดนั้นทำปฏิกิริยาเคมีกับสารอีกชนิดหนึ่งได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น กำมะถันเป็นอโลหะ และเป็นของแข็ง สีเหลืองอ่อน เปราะ หลอมเหลวที่ ๑๑๙ องศาเซลเซียส ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ในคาร์บอนไดซัลไฟด์ ไม่นำไฟฟ้า เหล่านี้เป็นการพูดถึงสมบัติทางฟิสิกส์ หากอธิบายว่ากำมะถันลุกไหม้ในอากาศให้แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย หรือกำมะถันรวมกับโลหะโดยการเผาให้สารประกอบซัลไฟด์ของโลหะ ก็จะเป็นการกล่าวถึงสมบัติทางเคมีของกำมะถัน

        สมบัติต่าง ๆ ของสารมีทั้งที่เป็นคุณและโทษ ดีก็ได้เลวก็ได้ ดังนั้น ทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช้คำว่า คุณสมบัติ เพราะคุณสมบัติบ่งถึงคุณความดีและสิ่งที่เป็นคุณ หากจะบอกว่าคุณสมบัติของคลอรีน คือ มีกลิ่นฉุนแสบ เป็นอันตรายต่อการหายใจ ก็จะขัดแย้งกันกระไรอยู่ ถึงแม้สมบัติบางอย่างของสารเป็นสิ่งดีน่าพึงพอใจ เช่น ใยหินทนไฟ ก็จะกล่าวว่าใยหินเป็นแร่ที่มีสมบัติทนไฟ ละเว้นไม่ใช้ข้อความว่าใยหินมีคุณสมบัติทนไฟ

        สมบัติในที่นี้เป็นศัพท์วิทยาศาสตร์ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า property.

ผู้เขียน : ศ. ดร.กฤษณา ชุติมา ราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาเคมี สำนักวิทยาศาสตร์

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๗ ตุลาคม ๒๕๔๐