สมาธิ

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามคำ สมาธิ [สะมาทิ] หมายถึง ความตั้งมั่นแห่งจิต; ความสํารวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง เช่นเดียวกับพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า อาการที่จิตตั้งมั่น แบ่งออกเป็น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

          ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วขณะจิต หมายถึง สมาธิในแต่ละขณะจิตและรวมไปถึงสมาธิในแต่ละขณะจิตที่ถูกฝึกให้เกิดยาวนานไปจนใกล้ถึงอุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน อุปจารสมาธิ คือ สมาธิใกล้ถึงอัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิจวนจะแน่วแน่หรือจวนนิ่ง อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิขั้นอัปปนา หมายถึง สมาธิขั้นแน่วแน่หรือขั้นนิ่ง สมาธิในฌาน ระดับของอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิจะสูงต่ำต่างกันอย่างไร ให้พิจารณาดูองค์ฌาน คือ วิตก (การตรึก) วิจาร (การตรอง) ปิติ (ความเอิบอิ่ม) สุข (ความสุข) เอกัคคตา (ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง) เมื่อใดที่องค์ฌาน ๕ ประการนี้เกิดขึ้น มีกำลังมากทำให้นิวรณ์ (กิเลสที่ขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ) ๕ ประการสงบนิ่งได้ เมื่อนั้นจัดเป็นอัปปนาสมาธิ

          ในพระไตรปิฎก มีการกล่าวถึงสมาธิ ๓ ระดับไว้อีกลักษณะหนึ่ง คือ สุญญตสมาธิ คือ สมาธิที่เกิดจากการวิปัสสนาที่พิจารณาถึงความว่างจากอัตตาของสรรพสิ่ง อนิมิตตสมาธิ คือ สมาธิที่เกิดจากการวิปัสสนาที่พิจารณาความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง และอัปปณิหิตสมาธิ คือ สมาธิที่เกิดจากการวิปัสสนาที่พิจารณาความไม่น่าปรารถนาของสรรพสิ่ง

          สมาธิเป็นองค์ธรรมข้อหนึ่งในไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ต่างเป็นปัจจัยของกันและกัน ศีลเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา และปัญญาก็ประคับประคองศีล สมาธิ ให้ดำเนินไปถูกทาง.

รัตติกาล  ศรีอำไพ