สมุหพระกลาโหม

          ราชบัณฑิตยสถานได้จัดพิมพ์พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งในพจนานุกรมฉบับนี้ มีการแก้ไขปรับปรุงและเพิ่มเติมบทนิยามศัพท์จำนวนมาก รวมทั้งศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ คำที่จะกล่าวถึงในวันนี้ คือ คำว่า สมุหพระกลาโหม และ สมุหนายก

          เดิมในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บคำ สมุหกลาโหม กับ สมุหพระกลาโหม ไว้คู่กันและให้บทนิยามไว้ดังนี้

          สมุหกลาโหม สมุหพระกลาโหม เป็นคำนาม หมายถึง ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารครั้งโบราณ แต่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้แก้ไขบทนิยามศัพท์คำนี้ใหม่ โดยตัดคำว่า
สมุหกลาโหม ออก ให้เก็บไว้แต่ สมุหพระกลาโหม เท่านั้น เพราะจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว พบว่าคำที่ถูกต้องคือ สมุหพระกลาโหม และให้บทนิยามดังนี้

          สมุหพระกลาโหม เป็นโบราณศัพท์ เป็นคำนาม หมายถึง ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร ดูแลรับผิดชอบและเป็นประธานที่ประชุมเสนาบดีของฝ่ายทหาร รวมทั้งการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองปักษ์ใต้

          อีกคำหนึ่งคือ สมุหนายก ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้บทนิยามไว้ว่า สมุหนายก เป็นคำนาม หมายถึง ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนครั้งโบราณ แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้แก้ไขบทนิยามศัพท์ให้สอดคล้องกับ คำ สมุหพระกลาโหม ดังนี้

          สมุหนายก เป็นโบราณศัพท์ เป็นคำนาม หมายถึง ตำแหน่งข้าราชการชั้นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ดูแลรับผิดชอบและเป็นประธานที่ประชุมเสนาบดีของฝ่ายพลเรือน รวมทั้งการปกครองและการยุติธรรมในหัวเมืองฝ่ายเหนือ.

ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน