สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์  กิติยากร แล้ว ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์  กิติยากร พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

          ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงผนวช เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม – ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อทรงสำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเฉลิมพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ 

          พระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” นี้เป็นพระอิสริยยศของพระอัครมเหสีในพระมหากษัตริย์ที่ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การสถาปนาพระอิสริยยศนี้มีขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์เสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และปรากฏการขานพระนาม “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ” เป็นครั้งแรกตามมาตรา ๒ ของพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) ที่ระบุว่า “ในระวางเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในกรุงสยามนี้ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ อันเป็นพระราชชนนีแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมารนั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ กับทั้งให้มีที่ประชุมอันหนึ่งเป็นที่ปฤกษาด้วย”.

   สุปัญญา  ชมจินดา