สมเด็จไทย/สมเด็จเขมร (๑)

เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาษาไทยกับภาษาเขมร ยังมีสิ่งที่กล่าวถึงได้อีกอย่างมากมายหลายแง่

ทั้งไทยและเขมรนอกจากจะใช้ตัวอักษรซึ่งมีที่มาอันเดียวกันแล้ว ต่างก็ชอบยืมภาษาบาลีสันสกฤตเข้ามาใช้ในภาษา และชอบยืมกันเองอีกด้วย แต่ปรับเสียงให้เข้ากับภาษาของตนเองเสีย ซึ่งเป็นลักษณะธรรมดาของภาษาทั่วโลก

พยัญชนะในวรรคแรกของเรา คือ “ก ข ค ฆ ง” นั้น เราอ่านว่า “กอ ขอ คอ ฆอ งอ” ส่วนเขมรจะอ่านว่า “กอ คอ โก โค โง” ที่ไม่เอ่ยถึง “ฃ ขวด” กับ “ฅ คน” นั้นก็เพราะอักษรทั้งสองตัวนี้ไทยคิดขึ้นเอง ไม่เกี่ยวกับเขมร

ในด้านเสียงสระแม้จะใช้รูปคล้ายกัน แต่ไทยกับเขมรก็ออกเสียงต่างกัน เช่น

“ก กา กิ กี กึ กื กุ กู กัว เกิ (เกอ) เกือ เกีย” ไทยอ่านว่า “กอ กา กิ กี กึ กือ กุ กู กัว เกอ เกือ เกีย” แต่เขมรจะอ่านว่า “กอ กา เกะ เก็ย เกอะ เกอ (ออกเสียงผสมระหว่างสระเออะ กับ สระอึ) โกะ โกว์ กัว เกอ (ออกเสียงผสมระหว่างสระอะ กับ สระเออะ) เกือ เกีย”

“ค คา คิ คี คึ คื คุ คู คัว เคิ (เคอ) เคือ เคีย” ไทยอ่านว่า “คอ คา คิ คี คึ คือ คุ คู คัว เคอ เคือ เคีย” แต่เขมรจะอ่านว่า “โก เกีย กิ กี กึ กือ กุ กู กัว เกอ เกือ เกีย”

“ส” ไทยอ่านว่า “สอ” แต่เขมรอ่านว่า “ซอ” (เพราะไม่มีเสียงวรรณยุกต์)

“ร” ไทยอ่านว่า “รอ” แต่เขมรอ่านว่า “โร” เหมือน “ค” ซึ่งอ่านว่า “โก”

เพราะฉะนั้น ไทยจึงอ่านคำ “เสียมราบ” ว่า “เสียมราบ” แต่เขมรอ่านว่า “เสียมเรียบ”

 

นอกจากเรื่องตัวอักษรและการอ่านแล้ว สิ่งที่น่าจะกล่าวถึงได้อีกอย่างหนึ่งในด้านความสัมพันธ์ทางภาษาก็คือ ราชาศัพท์

ราชาศัพท์ ในความหมายกว้าง หมายถึงถ้อยคำที่ใช้กับบุคคล ๕ ประเภทมีพระราชา เจ้านาย พระสงฆ์ ขุนนาง และคนสุภาพ ในความหมายแคบหมายถึง ถ้อยคำที่ใช้กับพระราชาและเจ้านาย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในพระนิพนธ์ สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๒๓ ว่า

“…มูลของราชาศัพท์จะเกิดด้วยเมื่อเขมรปกครองเมืองละโว้ ในอาณาเขตเมืองละโว้ พลเมืองมีหลายชาติ คำพูดเป็นหลายภาษาปะปนกัน ทั้งเขมร ไทย และละว้า ไทยพวกเมืองอู่ทองคงพูดภาษาไทย มีคำภาษาอื่นปนมากกว่าภาษาไทยที่พูดทางเมืองเหนือ หรือจะเปรียบให้เห็นใกล้ๆ เช่น ภาษาไทยที่พูดกันทางเมืองอุบลกับที่พูดกันในกรุงเทพฯในเวลานี้ก็ทำนองเดียวกัน ครั้นรวมเมืองเหนือกับเมืองใต้อยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยา เจ้านายที่เคยอยู่เมืองเหนือนับแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชสามพระยา เป็นต้น ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาและตีเมืองเขมรได้ ได้เขมรพวกที่เคยปกครองเมืองเขมรเข้ามาเพิ่มเติม ระเบียบราชาศัพท์จึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้น…” (สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๘๔ (ฉบับองค์การค้าคุรุสภา พ.ศ.๒๕๑๖) เล่ม ๒๓ หน้า ๑๐๖-๑๐๗)

หนังสือ ราชาศัพท์ ฉบับสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ กล่าวไว้ว่า

คำที่ใช้เป็นราชาศัพท์ของไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นคำภาษาเขมร ภาษาสันสกฤต และภาษาบาลี นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และทางภาษากล่าวว่า การนำคำในภาษาเขมรมาใช้นั้นเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวไทยในฐานะทรงเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า คำเขมรที่เรายืมมาเป็นคำราชาศัพท์ในภาษาไทยนั้น มีทั้งที่เป็นคำราชาศัพท์ของเขมรโดยตรง และคำสามัญที่เรานำมาเติม “พระ” ข้างหน้าเพื่อทำให้เป็นราชาศัพท์

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน