สมเด็จไทย/สมเด็จเขมร (๒)

คําราชาศัพท์ของเขมรโดยตรงนั้น กตัญญู ชูชื่น ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ภาษาเขมรในภาษาไทย ว่ามีอยู่ประมาณ ๑๘ คำ คือ ทรง สรง บรรทม (ผทม) ทูล บัณฑูร (บันทูล) เสวย เสด็จ ถวาย ทอด (พระเนตร) บังคม ประชวร ตรัส ดำรง ธำมรงค์ ประทับ กริ้ว แผลง (ศร) โสกันต์ พระเรียม (ตรงกับคำราชาศัพท์ของไทยว่า เจ้าพี่ และตรงกับคำสามัญว่า เรียม)

ในหมู่คำราชาศัพท์โดยตรงจากภาษาเขมรดังกล่าวนี้ หนังสือ ราชาศัพท์ ฉบับสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ กล่าวไว้ว่า มีอยู่ ๑๐ คำที่ใช้เป็นราชาศัพท์ได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้คำว่า “ทรง” นำหน้าอีก คำทั้ง ๑๐ คำนั้นก็คือ

ทรง สรง บรรทม (ผทม ประทม) เสวย ถวาย ทอดพระเนตร ประชวร ตรัส (ดำรัส) ประทับ กริ้ว

ส่วนคำว่า “เสด็จ” นั้น นำหน้ากริยาบางคำได้ในทำนองเดียวกันกับคำว่า “ทรง” เช่น เสด็จไป เสด็จมา เสด็จขึ้น เสด็จลง เสด็จอยู่ เสด็จประพาส เสด็จผ่านพิภพ เสด็จดำรงราชย์ เสด็จสถิต เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เสด็จสวรรคต

สำหรับคำว่า “สมเด็จ” นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า

คำยกย่อง หมายความว่า ยิ่งใหญ่หรือประเสริฐ (มักใช้ประกอบหน้าชื่อฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดหรือแต่งตั้ง) เช่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จเจ้าพระยา สมเด็จพระราชาคณะ ใช้แต่ลำพังว่า สมเด็จ ก็มี

ในหนังสือ ราชาศัพท์ ฉบับสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ มีคำว่า “สมเด็จพระ” ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้รับพระบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ในอดีต และพระราชสมัญญา เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระมหาบุรุษ

ทางด้านภาษาเขมรนั้น พจนานุกรมเขมร-ไทย ฉบับพระยาอนุมานราชธน บันทึกไว้ว่า

สมฺเฎจ (ซ็อมดัจ) สมเด็จ ผู้มีบุญมีอำนาจยิ่งใหญ่ สูงสุด เรืองยศ เรืองอำนาจ เป็นคำใช้นำหน้าฐานันดรกษัตริย์ หรือ มนตรีผู้มียศศักดิ์สูง เช่น สมฺเฎจพระอุปยุวราช (ซ็อมดัจเพรียะห์อุปะยุเวียะเรียจ) สมเด็จพระอุปยุวราช สมฺเฎจพระวรราชชนนี (ซ็อมดัจเพรียะห์เวียะเรียะเรียจจ็วนเนียะยี) สมเด็จพระวรราชชนนี สมฺเฎจพระสงฆราช (ซ็อมดัจเพรียะห์ซ็องเคียะเรียจ) สมเด็จพระสังฆราช สมฺเฎจเจาพญา (ซ็อมดัจเจาปัวเญีย) สมเด็จเจ้าพระยา ฐานันดรเสนาบดีในสมัยโบราณ สมฺเฎจ (ซ็อมดัจ) ก็ใช้

จะเห็นได้ว่า คำว่า “สมเด็จ” นี้ ภาษาไทยใช้เป็นราชาศัพท์อย่างเดียว แต่เขมรใช้หมายถึงตำแหน่งของเสนาบดีในสมัยโบราณก็ได้

 

สําหรับคำว่า “สมเด็จ” ใน “สมเด็จฮุนเซ็น” นั้นเป็นการรื้อฟื้นฐานันดรโบราณขึ้นมาใช้ใหม่ ตำแหน่งนี้กษัตริย์เขมรได้พระราชทานให้เพื่อเป็นการให้เกียรติอย่างสูงในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูงอีกคนหนึ่งที่ได้รับตำแหน่งนี้คือประธานรัฐสภา ถ้าจะเทียบกับตำแหน่งอย่างไทยก็น่าจะเทียบได้กับ “ฯพณฯ” (พะนะท่าน) นั่นเอง อย่าเข้าใจผิดเป็นอื่น

หมายเหตุ ข้อมูลจาก

กตัญญู ชูชื่น ภาษาเขมรในภาษาไทย ไทยวัฒนาพานิช ๒๕๒๕.

กาญจนา นาคสกุล อ่านภาษาเขมร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๓๙.

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือ “ราชาศัพท์” ราชาศัพท์ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ๒๕๓๗.

ฉ่ำ ทองคำวรรณ หลักภาษาเขมร ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๗.

บรรจบ พันธุเมธา พจนานุกรมเขมร-ไทย ฉบับพระยาอนุมานราชธน จงเจริญการพิมพ์ ๒๕๑๗.

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน