สวอป

          หลายคนที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับศัพท์ในแวดวงเศรษฐกิจก็อาจจะคิดสงสัยว่า สวอป  คืออะไร แต่ถ้าใครเคยใช้หนังสือศัพท์เศรษฐศาสตร์  อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะพบว่ามีการเก็บคำ swap; swop ไว้ด้วย  ซึ่งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์เศรษฐศาสตร์  มีความเห็นว่าไม่ควรใช้คำทับศัพท์ว่า สวอป จึงได้บัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยไว้ว่า  การสลับสับเปลี่ยน  แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมนัก ถ้าผู้อ่านทราบแล้วจะช่วยนำไปใช้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้นก็จะถือว่าช่วยกันอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ภาษาไทย หรือถ้าคิดว่ายังไม่ใช่จะเสนอศัพท์คำใหม่มาที่ราชบัณฑิตยสถานก็จะขอบคุณมาก  

          ส่วนความหมายของ  การสลับสับเปลี่ยน  ตามความเห็นของคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์  มีความเห็นว่า  หมายถึง  การทำสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนผลผลิต สินค้า หรือสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น การตกลงซื้อขายเงินตราต่างประเทศ   ซึ่งในเรื่องดังกล่าวมีการสลับสับเปลี่ยนโดยการทำสัญญาซื้อและขายเงินตราต่างประเทศต่างสกุลในเวลาเดียวกัน โดยมีรูปแบบที่สำคัญ ดังนี้

          ๑. การสลับสับเปลี่ยนทันที-ล่วงหน้า (spot–forward swap)  คือ การทำสัญญาสลับสับเปลี่ยนโดยการซื้อหรือขาย ณ ราคาขณะนั้นในตลาดส่งมอบทันที (spot market) ในขณะเดียวกันก็ทำสัญญาขายหรือซื้อในทางกลับกันในตลาดล่วงหน้า (forward market)

          ๒. การสลับสับเปลี่ยนล่วงหน้า-ล่วงหน้า (forward–forward swap) คือ การทำสัญญาสลับสับเปลี่ยนโดยการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในตลาดล่วงหน้า ในขณะเดียวกันก็ทำสัญญาขายหรือซื้อในทางกลับกันในตลาดล่วงหน้าที่มีวันครบอายุต่างกัน

          การทำสัญญาสลับสับเปลี่ยนในเรื่องเงินตราต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะใช้ในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงหรือการขาดทุน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก