สว.

          คำย่อที่กำลังคุ้นหูอยู่ขณะนี้ไม่น่าจะพ้นคำ สว. กับ สส. ซึ่งหลายคนคงจะพอทราบแล้วว่าทั้ง ๒ คำนี้หมายถึงอะไร  สส. ก็คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ส่วน สว. ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเช่นเดียวกับ สส. คือสมาชิกวุฒิสภา วุฒิสภามีสมาชิกวุฒิสภาได้ ๑๕๐ คน มาจากการเลือกตั้ง ๗๖ คน (จังหวัดละ ๑ คน ) และมาจากการสรรหา ๗๔ คน แต่เรื่องเหล่านี้คงป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว เรื่องที่จะกล่าวถึงเป็นเรื่องความเป็นมาของ สว.

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕  มีรัฐสภาเป็นระบบสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร 

          ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร กับ พฤฒสภา ที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร เช่นเดียวกัน  ทั้งนี้ ให้พฤฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง  ต่อมาภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ ได้เปลี่ยนชื่อจาก พฤฒิภา มาเป็น วุฒิสภา โดยให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ต่างก็บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง  ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐  จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันที่ใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ สมาชิกวุฒิสภาจึงมีทั้งมาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง

          ท้ายนี้ ขอฝากข้อความสั้น ๆ ที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติว่า ” ๒ มีนาคมนี้ อย่าลืมพากันไปเลือกตั้งสว.” นะคะ

  ทิพาภรณ์  ธารีเกษ