สะพานชื่อสัตว์ (๑)

          ท่านผู้อ่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า ชื่อสัตว์ต่าง ๆ เช่น ปลา ช้าง กุ้ง ไก่ นก นอกจากจะเป็นคำเรียกสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังใช้เรียกอะไรได้อีกบ้าง วันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับชื่อสัตว์ที่ใช้เป็นชื่อสะพานมานำเสนอ แต่สะพานชื่อสัตว์จะมีลักษณะหรือส่วนใดเกี่ยวข้องกับสัตว์บ้างนั้น หาคำตอบได้จาก พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เป็นผู้เรียบเรียง และราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ รวมความได้ดังนี้

          สะพานชื่อสัตว์สะพานแรกคือ “สะพานปีกุน” หรือสะพานหมู” เป็นสะพานคนเดินข้ามคลองคูเมืองเดิม อยู่หน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและกระทรวงมหาดไทย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างสะพานปีกุนขึ้นในโอกาสที่มีพระชนมพรรษา ๔ รอบ ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ สะพานปีกุนเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเสาที่เชิงสะพานทั้ง ๒ ฝั่ง รวม ๔ ต้น หัวเสาเป็นรูปถ้วยประดับช่อมาลา มีวงรูปไข่ ๔ วงทุกเสา ซึ่งมีความหมายสัมพันธ์กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ดังนี้ ต้นเสาหมายถึงเทียนประทีปพระชันษา วงรูปไข่หมายถึงรอบปี ๔ วงหมายถึงพระชนมพรรษา ๔ รอบ คนทั่วไปเรียกสะพานปีกุนว่า สะพานหมู เพราะมีอนุสาวรีย์หมูบนฝั่งคลองด้านตะวันตกใกล้กับเชิงสะพาน อนุสาวรีย์หมูเป็นอนุสาวรีย์ที่สหชาติหรือผู้ที่เกิดปีกุนเช่นเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ซึ่งได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระยาพิพัฒโกษา และพระยาราชสงคราม ร่วมกันสร้างเป็นอนุสรณ์ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เมื่อมีพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๔๕๖

          สะพานชื่อสัตว์อีกสะพานหนึ่ง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า สะพานหัวตะเฆ่ หรือ สะพานหัวจรเข้ นั่นคือ สะพานอุบลรัตน์” เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองคูเมืองเดิม เชื่อมถนนอัษฎางค์และถนนราชินี เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร กึ่งกลางราวสะพานทั้ง ๒ ข้างทำเป็นแผ่นจารึกชื่อสะพาน และปีพุทธศักราช ๒๔๕๕ ซึ่งเป็นปีที่สร้างสะพาน.

อารยา ถิรมงคลจิต