สะพานชื่อสัตว์ (๒)

          พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เป็นผู้เรียบเรียง และราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายเกี่ยวกับสะพานชื่อสัตว์ไว้ ๓ สะพาน ซึ่งได้กล่าวถึงไปแล้วในครั้งก่อน ๒ สะพาน คือ “สะพานปีกุนหรือสะพานหมู” และ สะพานหัวตะเฆ่ หรือ สะพานหัวจรเข้ วันนี้จึงขออธิบายถึงสะพานชื่อสัตว์สะพานสุดท้าย นั่นคือ “สะพานหัวช้าง” หรือสะพานเฉลิมหล้า ๕๖ ซึ่งเป็นสะพานในชุดเฉลิม สะพานที่ ๑๕ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ ๕๖ สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ สร้างข้ามคลองบางกะปิหรือคลองแสนแสบที่ถนนพญาไท เพื่อเชื่อมทางระหว่างพระนครให้ต่อกันทั้งตอนเหนือและตอนใต้ ลักษณะของสะพานเฉลิมหล้า ๕๖ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก คานเป็นคอนกรีตรูปโค้ง มีรายละเอียดงดงามมาก หัวสะพานทั้ง ๔ มุมมีรูปประดับเป็นช้าง ๔ ด้าน ลูกกรงหล่อแบบลูกมะหวดฝรั่ง กลางสะพานมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร.

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัยกาธิราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีพระชนมายุสมายุมงคลเสมอรัชกาลที่ ๒ และฉลองวัดอรุณราชวรารามด้วย และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีช้างเผือกในแผ่นดินถึง ๔ เชือก จึงพระราชทานนามสะพานว่า สะพานเฉลิมหล้า ซึ่งมาจากพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และหัวเสาของสะพานออกแบบเป็นหัวช้างเผือก ๔ หัว ปัจจุบันสะพานเฉลิมหล้า ๕๖ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า สะพานหัวช้างนี้ ยังคงปรากฏอยู่ โดยกรุงเทพมหานครได้พยายามรักษาลักษณะเดิมของสะพานไว้เป็นอย่างดี แม้จะมีการขยายถนนและสะพานเพื่อให้รับกับความเจริญของบ้านเมืองและการคมนาคมที่คับคั่งขึ้น.

อารยา ถิรมงคลจิต