สะพานช้าง

          ท่านที่เคยเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ดูความหมายของคำว่า “สะพาน” จะพบว่าคำนี้มีลูกคำที่เป็นสะพานชื่อสัตว์อยู่หลายคำ หนึ่งในนั้นคือคำว่า “สะพานช้าง” ซึ่งหมายถึง สะพานที่ทำแข็งแรงสำหรับให้ช้างข้ามในสมัยโบราณ เรื่องราวเกี่ยวกับ “สะพานช้าง” ยังมีอธิบายไว้ในพจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เป็นผู้เรียบเรียง และราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ อีก ๒ สะพาน จึงขอรวมความมานำเสนอดังนี้

          สะพานแรกมีชื่อว่า “สะพานช้างโรงสี” เป็นสะพานช้างที่มีลักษณะเป็นสะพานตอม่อก่อด้วยอิฐ ปูพื้นด้วยไม้ซุงเหลี่ยม ที่เรียกว่า “สะพานช้างโรงสี” เพราะสะพานนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงสีข้าวของฉางหลวงสำหรับพระนคร “สะพานช้างโรงสี” เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม อยู่ปลายถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานช้างโรงสีขึ้นใหม่ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยมิได้พระราชทานนามใหม่ เนื่องจากชื่อสะพานช้างโรงสีเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปแล้ว นอกจากนี้ ที่เสาปลายราวสะพานยังมีรูปสุนัขอันเป็นสัญลักษณ์ของปีนักษัตรของ ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ซึ่งเป็นปีที่สร้างเสร็จพร้อมชื่อสะพานติดไว้ด้วย ใน พ.ศ. ๒๕๑๗๒๕๑๘ “สะพานช้างโรงสี” ได้รับการปรับปรุงโดยรื้อสะพานเดิมออกเพื่อปรับปรุงผิวจราจรบนสะพาน แต่ยังคงลักษณะเดิมไว้ทุกประการ

          สะพานช้างอีกสะพานหนึ่งมีชื่อว่า “สะพานมอญ” เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม อยู่หลังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและพระราชวังสราญรมย์ เชื่อมถนนเจริญกรุง ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิม “สะพานมอญ” เป็นสะพานไม้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวมอญที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อสะพานไม้ซึ่งชำรุดแล้วสร้างใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก สะพานนี้ได้ชื่อว่า “สะพานมอญ” ก็เนื่องมาจากชาวมอญเป็นผู้สร้างนั่นเอง.

อารยา ถิรมงคลจิต