สังคมนิยม

          แนวคิดของระบบการปกครองหรือระบบเศรษฐกิจในโลกนี้มีอยู่หลายระบบ แล้วแต่ว่าใครจะใช้แนวคิดอะไรในการแบ่ง โดยทั่วไปแล้วเรามักคุ้นเคยกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าประชาชนเป็นผู้มีอำนาจปกครองหรือการปกครองโดยประชาชน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้อำนาจการปกครองตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปว่าจะใช้การปกครองระบบรัฐสภา (parliamentary government) หรือว่าการปกครองระบบประธานาธิบดี (presidential government) แต่นอกจากระบอบประชาธิปไตยแล้ว ในโลกใบนี้ยังมีระบบที่เรียกว่า สังคมนิยม (Socialism) เกิดขึ้นด้วย วันนี้จึงได้นำคำอธิบายของคำดังกล่าวจากพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มาเสนอ

          สังคมนิยม (Socialism) หมายถึง ระบบการปกครองที่รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตหรือเป็นผู้ประกอบการหลักทางเศรษฐกิจ โดยรัฐมีบทบาทในการสร้างหลักประกันให้แก่สังคมด้วย การเป็นผู้จัดทำบริการสวัสดิการที่จำเป็นแก่ประชาชนโดยตรง ระบบสังคมนิยมอาจจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ได้ สุดแท้แต่บทบาททางการเมืองของประชาชนว่ามีมากน้อยเพียงใด ดังเช่นในสหรัฐอเมริกา สังคมนิยมมีความหมายได้หลายนัย สำหรับฝ่ายขวา สังคมนิยม หมายถึงการเริ่มต้นล่วงล้ำของลัทธิคอมมิวนิตส์เข้าสู่แดนที่เป็นเรื่องค่านิยมหรือสถาบันดั้งเดิมของชาวอเมริกัน สำหรับฝ่ายซ้าย สังคมนิยม หมายถึงการประกาศให้เห็นถึงจิตวิญญาณของชาวอเมริกันที่เน้นในทางปฏิบัติและใจกว้าง แม้ว่าวัฒนธรรมการเมืองของชาวอเมริกันจะสนับสนุนมาตรการทางสังคมนิยมในขอบเขตที่จำกัด และไม่มีความอดกลั้นต่อวาทะปลุกระดมของลัทธิสังคมนิยม แต่โครงการความมั่นคงทางสังคมของสหรัฐอเมริกาก็ได้ชื่อว่าเป็นระบบการประกันสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการถ่ายโอนรายได้จากคนรวยสู่คนจน ส่วนในมุมมองของพวกนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ สังคมนิยมอาจมีความหมายได้หลายนัย ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะความคลุมเครือหรือความไม่ชัดเจนของลัทธิดังกล่าว แต่เป็นเพราะเป็นแนวคิดที่ไปปรากฏในคำศัพท์ของลัทธิอื่น ๆ ที่แตกต่างกันหลากหลาย เช่น ในคำศัพท์ของลัทธิมากซ์ สังคมนิยม หมายถึง ขั้นตอนของสังคมก่อนที่จะบรรลุถึงขั้นตอนสังคมคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง ในคำศัพท์นอกวงการลัทธิมากซ์ เช่น สำนักสังคมนิยมคริสเตียน สำนักประชาธิปไตยทางสังคม และสำนักอื่น ๆ ความหมายของสังคมนิยมคลุมเครือมากและไม่เหมือนกัน.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก