สังคมวิทยา

          หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า สังคมวิทยา กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังสงสัยอยู่บ้างว่าเกี่ยวกับอะไร วันนี้จึงขอนำคำอธิบายที่คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายไว้ในหนังสือศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มาเล่าสู่กันฟังดังนี้ 

          สังคมวิทยา หรือ sociology  หมายถึง  การวิเคราะห์โครงสร้างของความสัมพันธ์ทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  คำ sociology เกิดขึ้นจากการผสมระหว่างคำภาษาละติน คือ socius ซึ่งหมายถึง การคบหา กับคำภาษากรีกว่า  logos  ซึ่งหมายถึง การศึกษา  รวมกันเป็นคำ sociology ซึ่ง ออกุส กงต์ (Auguste Comte) ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาสังคมวิทยายุคใหม่ เป็นผู้คิดขึ้น ศัพท์นี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๘๒๔ และต่อมาแพร่หลายจากหนังสือของเขาชื่อ Cours de philosophie positive ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๘  

          สังคมวิทยาเป็นกระแสแห่งศตวรรษที่ ๑๙  อาจกล่าวได้ว่ามี ๓ แนว คือ แนวแรก สังคมวิทยาเป็นการศึกษาโครงสร้างทางสังคม ซึ่งหมายถึง แบบแผนของความสัมพันธ์ซึ่งอยู่ได้ด้วยตนเองอยู่นอกเหนือและมีความหมายมากกว่าจำนวนรวมสมาชิก แนวที่ ๒ สังคมวิทยาเป็นการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า มโนทัศน์ร่วม (collective representation) ซึ่งหมายถึง ความรู้ความคิดและความเข้าใจโลกที่สมาชิกในสังคมยึดถือร่วมกัน เช่น ภาษา แนวที่ ๓ สังคมวิทยาเป็นการศึกษาการกระทำทางสังคมหรือการกระทำที่มีความหมาย (meaningful social action) ตามแนวความคิดนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคมหรือองค์รวมแห่งความเป็นสังคม (society) มีแต่เพียงปัจเจกชนและกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์หลากหลายต่อกัน เช่น การทำความเข้าใจเชิงการตีความ (verstehen) ที่ให้ความสนใจการกระทำที่มีเหตุผล (rational action) และความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับการกระทำ การศึกษาเชิงประชาวิธีวิทยา (ethnomethodology) ในการสร้างความเป็นจริงทางสังคม โดยผ่านการใช้ภาษา.

 จินดารัตน์  โพธิ์นอก