สัญญะ

ในความหมายทั่วไป  “เครื่องหมาย”  หมายถึง สิ่งที่ทําขึ้นแสดงความหมายเพื่อจดจําหรือกําหนดรู้ เช่น เครื่องหมายดอกจัน  แต่ในทางวิชาการ โดยเฉพาะสาขาวิชาสังคมวิทยามีการศึกษาถึงเครื่องหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น ดังที่พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า สัญญะ (sign) โดยทั่วไปใช้คำว่า เครื่องหมาย แต่คตินิยมแนวหลังโครงสร้าง (post–structuralism) ใช้หมายถึง อาการ เครื่องบ่งชี้  หรือสัญลักษณ์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ คำพูด กริยา การกระทำ เครื่องหมายขีดเขียน หรืออื่น ๆ ที่เป็นตัวแทน หรือแสดงความหมายอย่างหนึ่งอย่างใด   สัญญะอาจสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา เช่น การส่งสัญญาณ (signal) เพื่อสื่อความหมายตามที่เข้าใจกันทั่วไป หรือตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรืออาจเป็นสัญลักษณ์ (symbol) ที่สื่อความหมายลึกซึ้ง  นักสังคมวิทยาสนใจเรื่องสัญญะในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารระหว่างผู้คนในสังคม ทั้งในเรื่องรูปแบบและสาระของการสื่อสารนั้น

ในทางสังคมวิทยามีการศึกษาเรื่องสัญญะและสัญลักษณ์เรียกว่า สัญวิทยา, สัญญาณวิทยา  (semiology) ซึ่งพัฒนามาจากภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง (structural linguistics) ของ แฟร์ดินองด์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส  มโนทัศน์เรื่องสัญญะได้มาจากงานเขียนเรื่อง The Course in General Linguistics (1916) ในทัศนะของเดอ โซซูร์ สัญญะ ประกอบด้วย  ตัวสัญญะ (signifier) เช่น วัตถุสิ่งของ เสียง หรือเครื่องหมายที่ขีดเขียนขึ้น  และสารสัญญะ (signified) หรือมโนทัศน์ที่ตัวสัญญะเกี่ยวข้องด้วย  ส่วน โรลอง บาร์ต (Roland Barthes) เป็นผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับสัญวิทยาคนแรก ๆ  ผลงานสำคัญของเขาคือ Methologies (1957)  บาร์ตพัฒนามโนทัศน์เกี่ยวกับสัญญะเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่เขาเรียกว่า มายาคติสมัยใหม่ (modern myths) ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อตัวสัญญะอย่างหนึ่งกลายเป็นตัวสัญญะสำหรับสารสัญญะอย่างอื่น ๆ เช่น รูปนกพิราบ   ในระดับหนึ่งให้สารสัญญะอย่างธรรมดาว่าเป็นนกพิราบ แต่ในอีกระดับหนึ่งแสดงถึงสันติภาพ   อาหารชนิดต่าง ๆ ย่อมมีความหมายทางสังคมนอกเหนือไปจากอาหารที่มีไว้กินเพื่ออิ่มท้อง   การวิเคราะห์การทำงานของระบบสัญญะที่สื่อความหมายในระดับต่าง ๆ เช่นนี้ จำเป็นต้องนำเอาความคิดทางสังคมวิทยาในแง่มุมอื่น ๆ มาพิจารณาประกอบด้วย.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก