สัญญานี้…เพื่อโลก

          กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ให้ความหมายของคำสนธิสัญญา (treaty) ไว้ว่า สัญญาที่ทำระหว่างบุคคลระหว่างประเทศ (รัฐ รัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ) ก่อให้เกิดสิทธิและพันธกรณีระหว่างกันภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาแวร์ซาย เป็นสนธิสัญญาสันติภาพ ที่ทำขึ้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ณ พระราชวังแวร์ซาย สนธิสัญญาอาจมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น พิธีสาร (protocol) ข้อตกลง (arrangement) บันทึกความตกลง (memorandum of agreement)

          ปัจจุบันเชื่อกันว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งเป็นภัยคุกคามสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงบ่อยครั้งมากขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน (global warming) เนื่องจากแก๊สเรือนกระจก ประชาคมโลกและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจึงได้สนับสนุนให้เกิดพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ขึ้น พิธีสารเกียวโตนี้เป็นสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกขององค์การสหประชาชาติ โดยมีมาตรการทางกฎหมายในการรับมือกับภาวะโลกร้อน เปิดการเจรจาครั้งแรกที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคม คศ.1997 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 การให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโตมีทั้งหมด 150 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยมีกลไกเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก คือ การค้าสิทธิในการปล่อยสารมลพิษ (emission trading ET) การดำเนินการร่วมกัน (joint implementation JI) กลไกพัฒนาที่สะอาด (clean development mechanism CDM)

          กลไกภายใต้พิธีสารเกียวโตเป็นกลไกลดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวมของประชาคมโลก ในหน่วยที่ย่อยลงมา เช่น องค์กรสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ช่วยรณรงค์ให้ลดการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย พวกเราก็ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการสร้างจิตสำนึก…เพื่อโลกของเรา.

รัตติกาล ศรีอำไพ