สาธุ

          ในสังคมไทย เมื่อฟังเทศนาจบหรือเมื่อพระให้พรแก่เรา พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะกล่าวคำว่า สาธุ เพื่อรับ สาธุ มีความหมายว่าอย่างไร และใช้ในสถานการณ์ใดได้บ้าง รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๔ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ ความโดยสรุปว่า

          สาธุ เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า ดี ถูกต้อง ยอดเยี่ยม ประสบผลสำเร็จ ใช้เป็นคำแสดงว่า เห็นด้วยกับเรื่องที่พูดหรือสิ่งที่ทำ หรือใช้ในประโยคคำสั่งหรือขอร้องเพื่อแสดงความสุภาพ

          พระภิกษุสงฆ์จะเปล่งเสียงว่า สาธุ ออกมาพร้อมกันเพื่อแสดงว่ารับรองพิธีกรรมหรือสังฆกรรมที่เพิ่งทำเสร็จสิ้นไป เช่น ในพิธีทอดกฐิน เมื่อเจ้าภาพกล่าวคำถวายผ้ากฐินแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจะถามว่าควรจะมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใด ภิกษุอีกรูปหนึ่งจะเสนอชื่อภิกษุที่สมควรได้รับผ้ากฐิน เมื่อที่ประชุมสงฆ์มีมติเห็นชอบที่ประชุมจะมอบให้แก่ผู้นั้น แล้วจะกล่าวพร้อมกันว่า สาธุ

          สำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปจะเปล่งเสียงคำว่า สาธุ ในสถานการณ์ต่าง ๆ กันดังนี้

          ๑. เปล่งเมื่อพระภิกษุผู้เป็นหัวหน้าสงฆ์สวดแสดงอานิสงส์ของศีล

          ๒. เปล่งเมื่อพระภิกษุแสดงธรรมเทศนาจบ เช่น พอหลวงพ่อเทศน์จบ อุบาสกอุบาสิกาก็เปล่งวาจาว่า สาธุ

          ๓. เปล่งเมื่อพระภิกษุให้พร เช่น พอหลวงพ่อให้พรเสร็จ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายก็เปล่งวาจา สาธุ สาธุ สาธุ ดังไปทั่วทั้งโรงธรรม พร้อมกับยกมือที่ประนมไว้ขึ้นเหนือศีรษะ

          ๔. เปล่งเพื่ออนุโมทนาบุญที่บุคคลได้ทำไปแล้ว เช่น สาธุ ขอให้บุญกุศลที่เราทั้งปวงได้กระทำน้อมนำให้พวกเรามีสติ ยึดมั่นในคุณงามความดี และตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทเถิด

          นอกจากนี้ คำว่า สาธุ อาจใช้เป็นคำประชดเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งพูดสอนให้ยึดมั่นในศีลธรรมหรือทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามฟังดูคล้ายกับพระเทศน์ คนฟังก็จะเปล่งคำว่า สาธุ ล้อเลียน เช่น พอรุ่นพี่บ่นรุ่นน้องเสียยืดยาวเรื่องใช้ไฟฟุ่มเฟือยทำให้โลกร้อน รุ่นน้องก็พากันพนมมือแล้วร้องว่า สาธุ.

กนกวรรณ ทองตะโก