สารานุกรมทันใจ

          คำว่า สารานุกรม ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า encyclopedia มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า หนังสือที่รวบรวมความรู้ทุกแขนงหรือเฉพาะแขนงใดแขนงหนึ่ง มักเรียงตามลำดับอักษร เมื่อกล่าวถึง สารานุกรมทันใจ ผู้เขียนคิดว่าหลายคนคงไม่รู้จักและสงสัยว่าคำนี้คืออะไร แต่หากกล่าวถึงคำว่า “สารานุกรมเสรี” หรือ “วิกิพีเดีย” คิดว่าคงรู้จักกันดี

          คำว่า สารานุกรมทันใจ เป็นคำที่คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติใช้กับศัพท์คำว่า Wikipedia นอกจากจะบัญญัติศัพท์ดังกล่าวแล้ว ยังใช้เป็นคำทับศัพท์ว่า วิกิพีเดีย ด้วย คำว่า Wikipedia มาจากคำภาษาฮาวายว่า wiki ซึ่งแปลว่า รวดเร็ว ประสมกับคำว่า pedia ที่เป็นส่วนท้ายของคำว่า “encyclopedia” ซึ่งแปลว่า สารานุกรมคณะกรรมการจึงบัญญัติศัพท์นี้ตามความหมายของรากศัพท์ว่า “สารานุกรมทันใจ” วิกิพีเดียเป็นสื่อสังคมประเภทหนึ่ง โดยเป็นเว็บไซต์ที่เกิดจากโครงการสารานุกรมพหุภาษาซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกร่วมมือกันทำ ผู้สนับสนุนโครงการนี้ คือ มูลนิธิวิกิพีเดีย นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างส่งความรู้เข้ามารวบรวมไว้ โดยที่ผู้ใช้รายอื่น ๆ สามารถเข้ามาปรับปรุงแก้ไขได้ ในปัจจุบันนี้มีบทความที่ให้ความรู้ต่าง ๆ นับล้านเรื่อง ถือได้ว่าเป็นงานซึ่งให้ความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในอินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่าวิกิพีเดียจะมีข้อดีตรงที่ผู้ใช้สามารถค้นหาความรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสีย คือ ความรู้ที่ได้อาจจะมีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง เพราะผู้ใช้ไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ที่เข้ามาให้และปรับปรุงแก้ไขข้อความเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ จริงหรือไม่ การอ้างอิงความรู้จากวิกิพีเดียจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของผู้ใช้.

อารี พลดี