สำนวน “บัว”

          หากกล่าวถึงราชินีแห่งไม้น้ำ หลายคนคงนึกถึงบัว บัวจัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่มีหลายชนิดหลายสกุลและหลายวงศ์ มีลักษณะทางอนุกรมวิธานแตกต่างกันออกไป เช่น บัวหลวง (Nelumbo nucifera  Gaertn.) มีเหง้ายาวทอดอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลม ขอบเรียบ อยู่ห่าง ๆ กัน ก้านใบและก้านดอกแข็ง มีหนามสากคาย ชูใบและดอกขึ้นพ้นผิวนํ้า ดอกมีสีขาวหรือสีชมพู กลิ่นหอม  บัวสาย (Nymphaea lotus  L. var. pubescens  Hook.f. et Thomson) มีเหง้าสั้นอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลม ขอบใบจัก ลอยอยู่บนผิวนํ้า ก้านใบและก้านดอกอ่อนไม่มีหนาม ดอกโผล่ขึ้นพ้นผิวนํ้า ผลจมอยู่ในนํ้า ดอกมีสีขาวหรือสีแดง เมื่อรู้จักลักษณะทางอนุกรมวิธานของบัวกันแล้ว ลองมารู้จักกับภาษิต คำพังเพย หรือสำนวนไทยที่เกี่ยวกับบัวบ้างนะคะ

          ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด หมายถึง ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้กันทั่วไปแล้ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด น้ำกลิ้งบนใบบัว หมายถึง การเปรียบคนที่กลับกลอก และปลิ้นปล้อน เหมือนหยดน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว ซึ่งจะกลิ้งไปกลิ้งมา บัวแล้งน้ำ หมายถึง ความไม่มีน้ำใจของคนบางคน เหมือนบัวที่แห้งแล้ง อับเฉาเพราะขาดน้ำ  เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หมายถึง เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือเห็นผิดเป็นชอบ แม่สายบัวแต่งตัวค้าง หมายถึง ผู้ที่แต่งตัวคอยผู้มารับออกนอกบ้าน แต่เขาไม่มาตามนัด บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น เป็นกริยา หมายถึง รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบกระเทือนใจกัน หรือรู้จักถนอมน้ำใจไม่ให้ขุ่นเคืองกัน  

          จะเห็นได้ว่า ภาษิต คำพังเพย หรือสำนวนไทยเกี่ยวกับบัวที่นำมาเสนอในวันนี้ ล้วนมีความหมายที่ให้แง่คิดและคติเตือนใจได้เป็นอย่างดี.

  อารี  พลดี